หน้าแรกTrade insight > เปรูเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปี 2024

เปรูเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปี 2024

เปรูได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation: APEC) ในปี 2567 ณ เมือง Cusco โดยผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่จะจัดขึ้นตลอดปี 2567 ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมของสมาชิกเอเปค รวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ อออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของสมาชิก การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปค ทั้งนี้ ประชากรรวมของสมาชิกเอเปคคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ของ GDP โลก หรือร้อยละ 44 ของการค้าโลก

เปรูเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอเปค ในปี 2551 และการเข้าร่วมฯ ดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการขยายการเจริญเติบโตทางการค้าของเปรูอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าของเปรูไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของเปรูในกลุ่มสมาชิกเอเปคเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.8 หรือคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมประมาณ 6.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ที่ผ่านมาเปรูได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคเมื่อปี 2551 และปี 2559 ซึ่งในปี 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเปรูจะดำเนินการจัดประชุมที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่าง ๆ ในกรอบการหารือของสมาชิกเอเปค รวมจำนวนกว่า 150 การประชุม โดยรัฐบาลเปรูคาดการณ์ว่าผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาคธุรกิจจะมีจำนวนประมาณ 1,200 คน ตัวแทนและสื่อมวลชนจะมีจำนวนประมาณ 3,000 คน ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของสมาชิก ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
ประเด็นหารือสำคัญที่ผ่านมาในปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ประกอบด้วย (1) แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ให้ครอบคลุมและยั่งยืน (2) การผลักดันการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างเศรษฐกิจท่สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว (3) แนวทางการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับคู่ค้านอกภูมิภาค และ (4) แนวทางการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจรวมถึงการจัดการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ และในปี 2567 เปรูคาดว่าประเด็นการฟื้นฟูและการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปคยังคงเป็นวาระสำคัญหนึ่งในการประชุม รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.

การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสมาชิกเจ้าภาพในการเสนอประเด็นที่อยู่ในความสนใจและประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือจากสมาชิกอื่น ซึ่งประเด็นที่เปรูให้ความสนใจและต้องการให้เป็นประเด็นสำคัญในการหารือในการประชุมเอเปคในปี 2567 ได้แก่ การพัฒนาการศึกษาของสมาชิกกำลังพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญของเปรู สำหรับการยกระดับความเท่าเทียมของประชาชนผ่านการศึกษา และการลดผลกระทบภายในประเทศจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เปรูถือเป็นสมาชิกเอเปคที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และยังมีโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อยู่มาก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การทำเหมือง การประมง อุตสากรรมด้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น

การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของเปรูในปี 2567 จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายประเทศของเปรู ซึ่งที่ผ่านมาเปรูมีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังเปรูส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้ารถบรรทุกขนาดเล็ก อาหารทะเลกระป๋อง ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็นและส่วนประกอบ และเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรูจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากเปรูยังคงมีความต้องการในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างไปยังเปรูเพิ่มขึ้นด้วย
เปรู เป็นคู่ค้าลำดับที่ 63 ของไทยในปี 2565 โดยมีมูลค่าการค้ารวม 444.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 11.9 จากปีก่อนหน้า) เป็นการส่งออก 311.74 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 132.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 178.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนที่เกินดุล 198.95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไทยที่มืศักยภาพในการขยายตลาดไปยังเปรู เช่น รถปิ๊กอัพ เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ โพลิเอทาลีน ปริ้นเตอร์ เครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ส่วนสินค้าไทยที่มีโอกาสและมีแนวโน้มส่งออกไปเปรูเพิ่มขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์แต่งบ้าน ถุงมือยาง อะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ อาหารกระป๋อง ข้าว และขนมขบเคี้ยว โดยจากการจัดกิจกรรมจับคู่เจจรจาธุกิจออนไลน์ (OBM) ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก พบว่ากลุ่มสินค้าที่ผู้นำเข้าเปรูให้ความสนใจ ได้แก่ สินค้าก่อสร้าง เครื่องมือและอุปกรณ์ สินค้าเครื่องมือแพทย์และเภสัชกรรม นอกจากนี้ เปรูยังคงมีความต้องการในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างไปยังเปรูเพิ่มขึ้นด้วย เปรูเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ โดยเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และมีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ ไทยจึงสามารถอาศัยประเทศเปรูเป็นประตูในการค้าขายกับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา
_________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login