นาย Juan Carlos Mathews รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและกระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศเปรูได้เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นและสื่อต่างประเทศถึงนโยบายทางการค้า โดยกล่าวว่าเปรูเป็นประเทศที่มุ่งเน้นนโยบายการค้าเสรี เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์และราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด โดยรัฐบาลจะไม่ดำเนินการแทรกแซงใด ๆ ในกิจการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เปรูยังมุ่งเน้นเปิดความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนไปยังตลาดใหม่ โดยระบุว่าปัจจุบันเปรูมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี ระดับภูมิภาค และรวมกลุ่มประเทศ รวมทั้งสิ้น 22 ฉบับ และคาดว่าจะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้นอีก 1 ฉบับภายในไตรมาสแรกของปีหน้า (พ.ศ. 2567)
โดยนาย Juan Carlos ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเปรูได้เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับฮ่องกงรอบแรกแล้ว โดยผลการเจรจาเป็นที่พอใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย และจะมีการเจรจาฯ ในรอบที่สองในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถลงนาม FTA กับฮ่องกงภายในไตรมาสแรกของปี 2567 นาย Juan Carlos ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการเจรจา FTA กับประเทศอื่น ๆ โดยกล่าวถึงการเจรจา FTA กับประเทศอินเดียว่า ที่ผ่านมาการเจรจาฯ ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) อย่างไรก็ดี รัฐบาลเปรูวางแผนจะเปิดการเจรจาฯ ร่วมกันอีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลเปรูยังได้ทาบทามประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือและร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA เปรู-อินโดนีเซีย
นาย Juan Carlos กล่าวว่ารัฐบาลเปรูให้ความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศร่วมกันทำงาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศสามารถขยายการส่งออกสินค้าภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Productive Export Route โดยสินค้าที่คาดว่าจะสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น คือ กาแฟและโกโก้
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
เปรูมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ รวมจำนวน 22 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับประเทศสหรัฐอเมริกา คิวบา ชิลี แคนาดา สิงคโปร์ จีน ไทย เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปานามา คอสตาริกา เวเนซูเอลา ฮอนดูรัส ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร (2) การเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศ Mercosur, Pacific Alliance และกลุ่ม Andean Community (3) การเป็นสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และ CPTPP
ทั้งนี้ หากเปรูและฮ่องกงสามารถบรรลุการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีภายในต้นปีหน้า จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางค้าและการลงทุนของทั้งเปรูและฮ่องกง อย่างไรก็ดี แม้ว่าสินค้าส่งออกสำคัญของฮ่องกงจะความใกล้เคียงกับสินค้าส่งออกของไทย อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังเปรูไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสินค้าที่เปรูนำเข้าจากฮ่องกงมิได้เป็นสินค้าหลักที่เปรูนำเข้าจากไทย และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเปรู-ฮ่องกง จะเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรกรรมของเปรูในกลุ่มผลไม้ (เชอร์รี่ กีวี องุ่น) และปลาแซลมอน
อย่างไรก็ดี จากการที่เปรูเริ่มมีการทาบทามอินโดนีเซีย เพื่อหารือและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ร่วมกันนั้น แม้จะยังมิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปเปรูในอนาคตอันใกล้ แต่อาจจะส่งผลในอนาคต เนื่องจากสินค้าบางรายการที่เปรูนำเข้าจากอินโดนีเซียในปัจจุบัน เป็นคู่แข่งกับสินค้าไทย เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น
ในส่วนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรู พบว่าเปรูเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA สูงที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2564 (รองลงมาคือ ชิลี) โดยจากรายงานของกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่ากลุ่มสินคาสำคัญที่สงออกภายใตสิทธิ FTA ไทย-เปรู สูงที่สุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่
1) ด้ายผสมกับฝ้าย (HS 550953)
2) ถุงยางคุมกำเนิด (HS 401410)
3) โพลิเอทิลีนที่มีความถ่วงจำเพาะตั้งแต 0.94 ขึ้นไป (HS 390120)
4) ถุงมือที่ใช้ทางศัลยกรรม (HS 401519)
5) เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงอื่น ๆ (HS 852729)
6) รถจักรยานยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 250 – 500 ลบ.ซม. (HS 871130)
7) เครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบทำด้วยยางธรรมชาติ (HS 401511)
8) อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายชนิดพองลม (HS 950662)
9) ส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานยนต์ (HS 870829)
10) เพชรพลอยรูปพรรณและส่วนประกอบทำด้วยเงิน (HS 711311)
สคต.ฯ เห็นว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่ไทยมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี มีการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการจัดทำความตกลงทางการค้าในระดับต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าไทยมีการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรรักษาและ/หรือพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ทัดเทียม หรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งในตลาดปลายทาง รวมทั้งการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้
—————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรกฎาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)