เมื่อเร็วนี้ๆ South African Breweries หรือ SAB (โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีชื่อเสียงในแอฟริกาใต้) ได้เปิดตัว แบรนด์ “Corona Cero” ซึ่งเป็นเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่ผสมวิตามินดี
รากเหง้าของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ได้ย้อนไปถึงอารยธรรมโบราณซึ่งเชื่อมโยงไปสู่วัฒนธรรมและประเพณีที่รุ่งเรือง ในอดีตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ได้ถือกำเนิดหลายรูปแบบ เช่น อียิปต์โบราณ(ช่วงยุคยุโรปกลาง) เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เบียร์ขนาดเล็ก” (Small Beer) ในสหรัฐฯยุคที่ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ช่วงปี 2463 – 2476) รู้จักในชื่อ “ใกล้เคียงกับเบียร์” (Near beer)
ปัจจุบัน ความต้องการเบียร์ไร้แอลกอฮอล์กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง ข้อมูลจาก IWSR (หน่วยงานที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม) ระบุว่า ปี 2565 ยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำทั่วโลก มีมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ร้อยละ 70 เป็นยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ IWSR คาดการณ์ว่าภายในปี 2569 ยอดขายเครื่องดื่มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 โดยที่เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์จะมีสวนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ขยายตัว ดังนี้
1.จิตสำนึกรักสุขภาพ : โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น (Gen มิลเลนเนียลและ Gen Z) ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการดื่มอย่างมีสติ
2.นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเบียร์ซึ่งช่วยให้เบียร์แอลกอฮอล์มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้น(ในอดีตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มักขาดความลึกและความซับซ้อน ซึ่งแตกต่างจากเบียร์แอลกอฮอล์)
3.ความเหมาะสมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง เนื่องจากทัศนคติของสังคมเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนไป โดยการดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ช่วยให้เพลิดเพลินในการดื่มเพื่อเข้าสังคม ในขณะที่ส่งเสริมการบริโภคด้วยความรับผิดชอบและมีสติ
การเพิ่มความนิยมต่อเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไม่เพียงแต่เป็นกระแส แต่เป็นความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มควรให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์และปรับตัวให้กับความชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : เมื่อเทรนด์สุขภาพเข้ามาเป็นปัจจัยหลักของคนรุ่นใหม่ ทำให้เครื่องดื่ม “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” จึงเข้ามาตอบโจทย์ให้กับกลุ่มคนที่รักษาสุขภาพและต้องการดื่มเพื่อเข้าสังคม นอกจากนี้ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ยังอาจดึงดูดผู้ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลต่างๆ (อาทิ เหตุผลส่วนตัว เหตุผลทางศาสนา เหตุผลด้านสุขภาพ) หันมาดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์อีกด้วย
ข้อมูลจาก MAPS (หน่วยงานสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีชื่อเสียงในแอฟริกาใต้ที่) ระบุว่า แบรนด์เบียร์ยอดนิยมในแอฟริกาใต้ เช่น Carling Back Label, Another Brand, Castle Lite, Flying Fish, Heineken, Castle Lager, Corona Extra, Amstel Lager Lite, Castle Milk Stout ตามลำดับ
South African Breweries หรือ SAB (โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีชื่อเสียงในแอฟริกาใต้) ผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ต่างๆ ทั้งแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ท้องถิ่น อาทิ Beck’Blue, Beck’s, Corona Extra, Hoegaarden, Leffe, Stella Artois, Carling Black Label, Catle Lager, Catle Lite, Castle Milk Stout, Lion Beer, Hansa Pilsner
ข้อมูลจาก S&P Global (ประมวลจาก South African Revenue Service) ระบุว่า เดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 แอฟริกาใต้นำเข้าเบียร์ (Hs Code 2203: Beer Made From Malt) มูลค่า 87.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 24.70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) โดยนำเข้าจาก นามิเบียมากที่สุด (ร้อยละ 57.25 ของมูลค่าการนำเข้าเบียร์ทั้งหมด) รองลงมา คือ โมซัมบิก (ร้อยละ 23.69) แม็กซิโก (ร้อยละ 7.46) ทั้งนี้ นำเข้าจากไทย มากเป็นอันดับที่ 23 (ร้อยละ 0.01) มูลค่า 9,798 ดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งนำเข้ามูลค่า 9,787 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยเบียร์ไทยมีวางจำหน่ายในร้านอาหารไทยบางร้านเท่านั้น แม้ว่าแอฟริกาใต้นำเข้าเบียร์ไทยมูลค่าไม่มากนัก ยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความจงรักภักดี เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 2 ปี ย้อนหลังมูลค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งสวนทางกับภาพรวมการนำเข้าเบียร์ของแอฟริกาใต้ ปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) ซึ่งลดลงร้อยละ 24.70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน
เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 แอฟริกาใต้นำเข้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ มูลค่า 3.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.72 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) โดยนำเข้าจากแม็กซิโกมากที่สุด (ร้อยละ 70.18 ของมูลค่าการนำเข้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทั้งหมด) รองลงมากคือ เยอรมนี (ร้อยละ 11.94) เดนมาร์ก (ร้อยละ 10.99) ตามลำดับ อนึ่ง ยังไม่การนำเข้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จากประเทศไทย
สำหรับข้อมูลการส่งออกเบียร์ของแอฟริกาใต้ พบว่าได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 แอฟริกาใต้ส่งออกเบียร์ มูลค่า 1,125.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 12.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน) โดยส่งออกไปบอสวานามากที่สุด (ร้อยละ 36.20 ของมูลค่าการส่งออกเบียร์ทั้งหมด) รองลงมา คือ ซิมบับเว (ร้อยละ 20.48) สหรัฐฯ (ร้อยละ 11.46)
เครดิตภาพ: www.unsplash.com
ที่มาข่าว : www.bizcommunity.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
ธันวาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มขยายตัว