หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ

เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ

อเมริกาเหนือเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มปราศจากน้ำตาล (Sugar Free) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยข้อมูลจาก  mordorintelligence ระบุว่าปี 2566 สหรัฐฯ มีจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ประมาณ 19,170 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2571 สหรัฐฯ น่าจะมีมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลถึง 23,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงระหว่างปี 2566-2571 น่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 3.98%/ปี

 

ปัจจัยส่งเสริมการขยายตัวของตลาดอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ มีดังนี้

  1. ความกังวลในเรื่องสุขภาพทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของน้ำตาลต่อสุขภาพมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมองหาสินค้าทางเลือกที่ปราศจากน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการวิจัยของ American Society for Nutrition พบว่าประชากรสูงวัยและประชากรฮิสแปนิกมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานมากกว่าประชากรทั่วไป
  2. รายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความยินดีที่จะใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่ดีต่อสุขภาพ
  3. นวัตกรรมที่มีการพัฒนาให้รสชาติอาหารดีขึ้นช่วยทำให้สินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมีรสชาติดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ สารให้ความหวานจากธรรมชาติ เช่น หญ้าหวานและสารสกัดจากผลไม้ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเปิดใจและหันมาทดลองสินค้าปราศจากน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น
  4. เทรนด์การลดน้ำหนักและการออกกำลังกายที่กำลังเป็นที่นิยม ทำให้ชาวอเมริกันพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักและรักษาสุขภาพ โดยหันมาบริโภคสินค้าที่มีแคลอรี่ต่ำและปราศจากน้ำตาล ซึ่งสารทดแทนน้ำตาลเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดปริมาณแคลอรี่ในร่างกายและสามารถตอบสนองความต้องการความหวานได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้เกิดความสมดุลในไลฟ์สไตล์ของการควบคุมน้ำหนัก
  5. กลุ่มผู้บริโภคเฉพาะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีความไวต่อกลูเตน ดังนั้น สินค้าที่ปราศจากน้ำตาลจึงเป็นสินค้าทางเลือกที่เหมาะกับกลุ่มเฉพาะดังกล่าว
  6. หน่วยงานที่กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับอาหารของสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงบทบาทของสารทดแทนน้ำตาล และได้มีการกำหนดกฎระเบียบที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุปทานในตลาด โดยมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับการใช้สารทดแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหลักเกณฑ์ของ FDA ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอาหารที่จะ ‘ปราศจากน้ำตาล’ สามารถมีน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหรือเติมน้อยกว่า 0.5 กรัม/มื้อ ซึ่งช่วยทำให้สินค้าปราศจากน้ำตาลที่มีน้ำตาลในปริมาณที่ต่ำมากสามารถเข้ามาสร้างโอกาสในตลาดสหรัฐฯ ได้

ประเภทของสินค้าปราศจากน้ำตลาด สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. อาหาร อาหาร ของหวาน ของขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์นมและเบเกอรี่ที่ปราศจากน้ำตาล โดยแบรนด์ชั้นนำในตลาด ได้แก่ แบรนด์ Chobani จำหน่ายโยเกิร์ตปราศจากน้ำตาล ให้โปรตีนสูงและไขมันต่ำที่มีรสชาติที่หลากหลาย แบรนด์ Atkins จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีโปรตีนสูง ปราศจากน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตต่ำ แบรนด์ไอศกรีม Halo Top ได้ปฏิวัติตลาดขนมหวานด้วยไอศรีมปราศจากน้ำตาลด้วยเนื้อครีมและแคลอรี่ต่ำ ซึ่งมีรสชาติและท็อปปิ้งที่หลากหลายซึ่งช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้กลับมาซื้อซ้ำ แบรนด์ KIND เน้นส่วนผสมที่มีประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นของว่างที่ปราศจากน้ำตาล ซึ่งสินค้าเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ แบรนด์ Perfect Keto เป็นแบรนด์ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ควบคุมอาหารคีโตโดยเฉพาะ มีการนำเสนอของว่างปราศจากน้ำตาลและอาหารเสริมที่เป็นมิตรต่อคีโต แบรนด์ Quest Nutrition เน้นจำหน่ายของว่างที่มีโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำและปราศจากน้ำตาล เหมาะสำหรับนักกีฬาและผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย และแบรนด์ป๊อปคอร์น SkinnyPop ซึ่งจำหน่ายป็อปคอร์นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีแคลอรี่ต่ำ ปราศจากน้ำตาลและมีรสชาติเข้มข้นถูกใจผู้บริโภค
  2. เครื่องดื่ม รวมถึงโซดาไร้น้ำตาล น้ำผลไม้ ชา และกาแฟ โดยแบรนด์ชั้นนำในตลาด ได้แก่ แบรนด์โซดาไร้น้ำตาล Coca-Cola Zero Sugar ที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในสหรัฐฯ มีรสชาติหลากหลาย แบรนด์ Pepsi Zero Sugar คู่แข่งหลักของ Coca-Cola ในตลาดโซดาไร้น้ำตาล แบรนด์ LaCroix ซึ่งน้ำอัดลมแบรนด์นี้มีรสชาติที่สดชื่นหลากหลาย มีปริมาณแคลอรี่เป็นศูนย์และไม่มีน้ำตาล แบรนด์นี้จึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับผู้ที่มองหาเครื่องดื่มที่มีความซ่าและดีต่อสุขภาพ แบรนด์ Bai จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ น้ำอัดลม ชาและกาแฟที่ไม่มีน้ำตาล โดยน้ำอัดลมและและน้ำมะพร้าวเป็นสินค้ายอดนิยมของแบรนด์ เนื่องจากมีรสชาติที่สะอาดและสดชื่น แบรนด์ Honest Tea: จำหน่ายชาออร์แกนิกและน้ำมะนาวที่มีความหวานจากธรรมชาติในปริมาณที่ต่ำมาก แบรนด์ Celsius จำหน่ายเครื่องดื่มให้พลังงานมีส่วนผสมของสารสกัดจากชาเขียวและส่วนผสมจากธรรมชาติอื่นๆ ให้พลังงานโดยไม่ต้องพึ่งน้ำตาล เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องการเพิ่มพลังงานตามธรรมชาติ และน้ำอัดลมแบรนด์ Bubly ของPepsiCo นี้เปิดตัวในฐานะคู่แข่งของ LaCroix โดยนำเสนอน้ำอัดลมรสผลไม้หลากหลายชนิดที่ไม่มีน้ำตาลและสารให้ความหวานเทียมได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภควัยรุ่น
  3. สารให้ความหวาน สารให้ความหวานจากธรรมชาติและสารให้ความหวานเทียมที่ปราศจากน้ำตาล ซึ่งแบรนด์สารให้ความหวานจากธรรมชาติชั้นนำในสหรัฐฯ ได้แก่ แบรนด์ Stevia In The Raw ใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานบริสุทธิ์ แบรนด์ Truvia ใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานมีเนื้อสัมผัสคล้ายน้ำตาล ให้ความหวานตามธรรมชาติและนิยมใช้ในการทำกับข้าวต่างๆ แบรนด์ Monk Fruit In The Raw จำหน่ายสารให้ความหวานหล่อฮั้งก๊วยให้ความหวานที่ไม่มีแคลอรี่

สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไร้น้ำตาลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาในปี 2566 ได้แก่ โซดาไม่มีน้ำตาล โยเกิร์ตไม่มีน้ำตาล ลูกอมไม่มีน้ำตาล คุกกี้ปราศจากน้ำตาลและไอศกรีมปราศจากน้ำตาล ตามลำดับ โดย   แบรนด์ยอมนิยมของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในตลาดปราศจากน้ำตาล มีดังนี้

  1. อาหาร
  • กลุ่มโยเกริ์ตแบบปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ Yoplait Lite: 7% Chobani Zero Sugar: 20.3% Oikos Triple Zero: 18.5% (ที่มา: Statista, 2023)
  • นมปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ นมพร่องมันเนยของ Fairlife: 9% นมไขมันต่ำออร์แกนิคของ Horizon: 21.8% นมพร่องมันเนยของ Lactaid: 17.5% (ที่มา: Nielsen, 2023)
  • คุกกี้ปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ คุกกี้ Pepperidge Farm: 21.4% คุกกี้ Nabisco Amos Chewy: 18.7% คุกกี้ของ Lenny & Larry: 16.3% (ที่มา: IRI, 2023)
  • ช็อคโกแลตปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ บาร์ Zero Sugar ของ Hershey: 34.8% ช็อกโกแลตแท่งของ Lily’s Sweets: 5% บาร์ Atkins Endulge: 20.7% (ที่มา: SPINS, 2023)
  • โปรตีนบาร์ปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ Quest Nutrition โปรตีนบาร์: 32.5% Perfect บาร์: 27.1% ThinkThin บาร์โปรตีนสูง: 4% (ที่มา: IRI, 2023)
  • ถั่วไม่มีน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ Blue Diamond Almonds: 24.7% Wonderful Pistachios: 21.3% Kirkland Signature Mixed Nuts: 18.9% (ที่มา: Nielsen, 2023)
  1. เครื่องดื่ม
    • เครื่องดื่มอัดลมปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ Coca-Cola: 42.4% PepsiCo: 38.9% Dr Pepper Snapple Group: 18.7% (ที่มา: Statista, 2023)
    • เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา ได้แก่ แบรนด์ Gatorade Zero: 43.2% Powerade Zero: 35.7% Propel Zero: 21.1% (ที่มา: Statista, 2023)
    • เครื่องดื่มชาปราศจากน้ำตาล ได้แก่ แบรนด์ Lipton Pure Leaf Sweetened with Stevia: 28.5% Peace Iced Tea Sweetened with Stevia: 24.2% Bigelow Sugar-Free Green Tea: 19.1% (ที่มา: Euromonitor International, 2022)
  1. สารให้ความหวาน
    • สารให้ความหวานสังเคราะห์ ได้แก่ แบรนด์ Aspartame: 42.1% Sucralose: 38.7% Acesulfame-K: 19.2% (ที่มา: Grand View Research, 2023)
    • สารให้ความหวานจากธรรมชาติ ได้แก่ แบรนด์ Stevia: 62.5% Monk Fruit: 27.3% Allulose: 10.2% (Source: Business Research Insights, 2023)

 

กลุ่มเป้าหมายของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. อายุ กลุ่มผู้บริโภค GEN Millennial เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่นิยมบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล โดยอาศัยแรงหนุนจากเรื่องสุขภาพ ความกังวลเรื่องการควบคุมน้ำหนักและการเปิดกว้างยอมรับเทรนด์ใหม่ๆ มาเป็นตัวขับเคลื่อน รองลงมา คือ กลุ่ม Gen Z กลุ่มนี้ถูกขับเคลื่อนจากอุปสงค์ความต้องการในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและการจัดหาอย่างมีจริยธรรม ทำให้พวกเขาเปิดรับสินค้าทางเลือกที่ปราศจากน้ำตาลและใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติ ตลอดจนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่ม Baby Boomers ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคเบาหวานหรือผู้ที่เป็นเบาหวานก่อนวัยอันควร มองหาอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย
  2. เพศ เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะใส่ใจสุขภาพมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาลสำหรับตนเองและครอบครัวมากกว่าเพศชาย แต่ผู้ชายมีแนวโน้มจะซื้อเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลเพื่อการกีฬา
  3. รายได้ ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้สินค้าปราศจากน้ำตาลระดับพรีเมี่ยม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสารให้ความหวานจากธรรมชาติหรือส่วนผสมออร์แกนิก ส่วนผู้มีรายได้ปานกลาง เป็นกลุ่มตลาดส่วนใหญ่และเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อราคามากที่สุด โดยมักจะเลือกซื้อสินค้าทางเลือกปราศจากน้ำตาลในราคาที่เอื้อมถึงและไม่กระทบต่อรสชาติ และในส่วนของผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าการเข้าถึงตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอาจเป็นเรื่องท้าทายในกลุ่มนี้ แต่สินค้าที่ปราศจากน้ำตาลก็สามารถดึงดูดผู้บริโภคในกลุ่มนี้ได้ โดยเน้นในเรื่องการจัดการกับสุขภาพและโปรโมชั่นราคาพิเศษ
  4. เชื้อชาติ ประชากรฮิสแปนิกมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน จึงทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองหาตัวเลือกแบบไม่มีน้ำตาลมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดที่เฉพาะเจาะจงทางวัฒนธรรมสามารถมีเข้าถึงกลุ่มนี้ได้อย่างประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประชากรอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับอัตราโรคเบาหวานและโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนการตลาดที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการทางวัฒนธรรมและข้อกังวลด้านสุขภาพก็น่าจะช่วยให้สินค้าเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
  5. ภูมิศาสตร์ ผู้บริโภคที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพมากและมีความสามารถในการเข้าถึงสินค้าปราศจากน้ำตาลได้หลากหลาย ซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงสินค้าทางเลือกปราศจากน้ำตาลอาจถูกจำกัดในบางพื้นที่ แต่การช้อปปิ้งออนไลน์อาจจะช่วยลดช่องว่างดังกล่าวได้
  6. ไลฟ์สไตล์ บุคคลที่มีไลฟ์สไตล์กระตือรือร้น เช่น นักกีฬาหรือผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย บุคคลที่มีงานยุ่ง บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพและบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพ มักจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาลเพื่อการฟื้นฟูร่างการและจัดการกับพลังงาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ต้องการเกาะกระแสนิยม อาจต้องการค้นหาและเปิดใจทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เกิดการซื้อซ้ำต่อไปในอนาคตได้

 

ช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่อมดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ

  1. ร้านขาย Grocery แบบดั้งเดิม เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งร้านค้าครบวงจรเหล่านี้มีตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลให้เลือกมากมายหลายชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ของว่างไปจนถึงผลิตภัณฑ์จากนมและเบเกอรี่ต่างๆ
  2. ร้านสะดวกซื้อ เป็นร้านค้าขนาดเล็กจำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยสินค้าเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เช่น น้ำอัดลมไร้น้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลังปราศจากน้ำตาล ขนมหวานแบบปราศจากน้ำตาล ซึ่งช่องทางนี้เครื่องดื่ม ของว่างจำพวกบาร์และขนมหวานปราศจากน้ำตาลได้รับความนิยมอย่างมาก
  3. ร้านค้าจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและออร์แกนิก ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูงซึ่งต้องการสินค้าเฉพาะที่มีความพรีเมี่ยมและออร์แกนิก
  4. ร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะสำหรับการควบคุมและลดน้ำหนัก ร้านค้าเหล่านี้เน้นจำหน่ายสินค้าที่ช่วยในการการควบคุมน้ำหนัก สินค้าปราศจากน้ำตาลโดยเฉพาะ เช่น โปรตีนเชค อาหารทดแทน และของว่างแคลอรี่ต่ำ
  5. ช่องทางออนไลน์ แพลตฟอร์ม E-Commerce ชั้นนำในสหรัฐฯ เช่น Amazon Walmart และ Target นำเสนอสินค้าปราศจากน้ำตาลทางออนไลน์ให้เลือกมากมาย โดยมีราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้และมีบริการจัดส่งถึงบ้านเพื่อครอบคลุมผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ
  6. การเข้าถึงผู้บริโภคแบบโดยตรง (Direct to Consumer) โดยสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลที่จำหน่ายในช่องทางนี้นิยมการจำหน่ายทางออนไลน์โดยตรง เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการสมัครสมาชิกและให้บริการตามข้อมูลเฉพาะบุคคล
  7. ช่องทางอื่นๆ เช่น ธุรกิจบริการร้านอาหาร มีการเสนอสินค้าทางเลือกที่ปราศจากน้ำตาลในเมนูมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ เช่น น้ำอัดลมไร้น้ำตาล ชาเย็นไม่หวานและขนมหวานไร้น้ำตาล

 

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ

  1. คำจำกัดความของคำว่า “ปราศจากน้ำตาล”:
    • ต้องมีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อปริมาณการบริโภคและต่อหน่วยบนฉลาก
    • สำหรับมื้ออาหารและอาหารจานหลัก ต้องมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อการเสิร์ฟหรือหน่วยกำกับบนฉลาก
  2. การระบุปริมาณสารอาหาร
    • การระบุสารอาหารเช่น “ไม่มีแคลอรี่” “ไม่มีน้ำตาล” และ “แคลอรี่ที่ลดลง” ต้องเป็นไปตามเกณฑ์เฉพาะสำหรับปริมาณแคลอรี่และน้ำตาล เช่น หากต้องการอ้างว่า “ปราศจากน้ำตาล” ผลิตภัณฑ์จะต้องมีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภคที่มีป้ายกำกับเท่านั้น
    • ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะในการระบุปริมาณน้ำตาลบนฉลากข้อมูลโภชนาการ รวมถึงน้ำตาลทั้งหมดและน้ำตาลที่เติมเข้าไป ตามข้อมูลของ US FDA https://www.fda.gov/food/nutrition-facts-label/added-sugars-nutrition-facts-label
  3. สารให้ความหวาน
  • FDA ถือว่าสารให้ความหวานเทียม เช่น ซูคราโลสและแอสปาร์แตมเป็นวัตถุเจือปนอาหาร และต้องได้รับการอนุมัติก่อนวางตลาด
  • สารให้ความหวานจากธรรมชาติ เช่น หญ้าหวานและผลไม้มักได้รับการยอมรับว่าปลอดภัย (GRAS) แต่ยังอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับในการติดฉลาก
  1. นอกจากนี้ FDA ยังควบคุมความปลอดภัยของอาหาร บรรจุภัณฑ์ และการติดฉลากสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาลด้วย ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยและมีฉลากถูกต้อง โดยข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมมีดังนี้

https://www.fda.gov/files/food/published/Food-Labeling-Guide-%28PDF%29.pdf

 

โอกาสของผู้ส่งออกไทยในตลาดอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ตลาดอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ส่งออกของไทยในการเข้าถึงตลาดที่กำลังเติบโตไปในทิศทางบวกพร้อมกับอุปสงค์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. ความมีชื่อเสียงของอาหารไทยและความหลากหลายของสินค้าอาหารและเครื่อมดื่มของไทยน่าจะเป็นจุดแข็งและสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยในตลาดปราศจากน้ำตาลได้เป็นอย่างดี
  3. ผู้บริโภคสหรัฐฯ มองหาสินค้าปราศจากน้ำตาลที่ทำจากสารให้ความหวานจากธรรมชาติ เช่น หญ้าหวานและหล่อฮั้งก๊วย ซึ่งไทยมีฐานทางการเกษตรที่แข็งแกร่ง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสารให้ความหวานดังกล่าวได้
  4. ผู้ส่งออกไทยสามารถนำเสนอเรื่องส่วนผสมจากธรรมชาติและประโยชน์ต่อสุขภาพของสินค้าเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ เช่น ผลไม้หรือเครื่องเทศที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ต่างๆ ในตลาดสหรัฐฯ อาจจะสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกไทย ดังนั้น การสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ การสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งการผลิต การใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกไทยและน่าจะช่วยให้สินค้าไทยประสบความสำเร็จในตลาดปราศจากน้ำตาลได้ในอนาคต ต่อไป

 

แหล่งข้อมูล: mordorintelligence.com/meticulousresearch.com/ finance.yahoo.com/US FDA/.foodnavigator-usa.com/Neilson.com/Statista.com และสคต. นิวยอร์ก

อ่านข่าวฉบับเต็ม : เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในสหรัฐฯ

Login