งานแสดงสินค้า Summer Fancy Food Show จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2566 ณ Jacob K. Javits Center นครนิวยอร์ก เป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มประเภท B2B ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงานกว่า 23 ราย สำหรับเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจ มีดังนี้
- เทรนด์อาหารประจำชาติ อาทิ แบรนด์ Xinca เป็นผู้นำตัวอย่างที่ดีของ
เทรนด์นี้ Xinca จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารประจำชาติเอลซัลวาดอร์ ภายในงานนำเสนอผลิตภัณฑ์แช่แข็ง อาทิ Pupusas (ปูปูซา) ขนมปังจากเอลซัลวาดอร์ไส้ข้าวโพดและชีสที่เป็นอาหารหลักของชาวเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Chakalaka จากอเมริกาใต้ ที่นำเสนอ Chakalaka (ชาคาลากะ) ผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วที่มีรสเผ็ดหวานที่เป็นอาหารหลักประจำชาติของชาวแอฟริกาใต้ ที่มีส่วนผสมของเครื่องแกง พริกไทย ผักสด และถั่ว เป็นต้น
- ขนมหวานเพื่อสุขภาพ: ภายในงานฯ แบรนด์ Edie’s for Everybody ที่
นำเสนอขนมปังกรอบเคลือบช๊อคโคแลต ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอผลิตภัณฑ์วีแก้น ออแกนิค ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากโปรตีนกลูเตน ปราศจากถั่ว นม และการปรุงแต่งใดๆ แล้ว ยังรวมเอารสชาติของเอเชียมาเป็นส่วนผสม อย่าง รสกาแฟเวียดนาม รสช็อคโกแลตชาเขียวและรสช็อคโกแลตชาอินเดีย (Chai) นอกจากนี้ แบรนด์ อย่าง Superfoods ที่นำเสนอช๊อคโคแลตอัดก้อน ที่เป็นผลิตภัณฑ์วีแก้นปราศจากน้ำตาล โดยใช้ความหวานของผลไม้ทดแทนน้ำตาล เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพแต่ต้องการรับประทานของหวาน
- อาหารบรรจุภัณฑ์ไอเดียสร้างสรรค์: การออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือกลยุทธสำคัญที่ตอบโจทย์การตลาดกระแสหลัก เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค อันนำไปสู่การสร้างแบรนด์ ภายในงานฯ มีแบรนด์ที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างแบรนด์ SoSo ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกลือสมุทร (Sea Salt) ในบรรจุภัณฑ์รูปไข่ และแบรนด์ Greenomic ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าภายใต้ชื่อ Good Hair Day Pasta บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่จับคู่รูปลักษณ์ของพาสต้าชนิดต่างๆ เข้ากับทรงผม อย่างเช่น สปาเก็ตตี้เป็นผมยาวตรง และแน่นอนว่ามันคือบรรจุภัณฑ์พาสต้าที่โดดเด่นที่สุดภายในงานฯ
- ขนมขบเคี้ยวให้พลังงานสูงและดีต่อสุขภาพ: แบรนด์ที่โดดเด่นในงานในหมวดประเภทของขนมขบเคี้ยว ได้แก่ แบรนด์ Mamame Whole foods ที่นำเสนอ Tempeh Chips ขนมกรุบกรอบที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังและถั่วเหลืองหมักที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เป็นวีแก้น ปราศจากกลูเตน และมีโปรตีน 5 กรัมและไฟเบอร์ 6 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รวมทั้ง แบรนด์ Naera ที่นำเสนอ Fish Jerky Crunch ขนมปลากรอบ ที่ปราศจากการปรุงแต่ง มีโอเมก้า 3 และแคลเซียม 2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และแบรนด์ Cornhusker Kitchen ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ถั่วอัลมอนด์คั่วไขมันเป็ดบริสุทธิ์ (Duck Fat Roasted Almonds) ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันดี ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี และมีหลากหลายรสชาติ เป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนรักถั่ว
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดขยะอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการ (Upcycled Foods):
Angie Crone CEO ของสมาคมอาหารอัพไซเคิลหรือ UFA คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหาร Upcycled กำลังขยายตัวมากขึ้นด้วยความตระหนักถึงความยั่งยืนจากผู้บริโภค พบว่าในปัจจุบันผู้บริโภคอาหารส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) การลดของเสีย 2) การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม สองปัจจัยนี้กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจรักษ์โลกมากขึ้น และ Upcycled กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงทุกอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมอาหาร โดยภายในงานฯ มีแบรนด์ Atoria นำเสนอขนมปังแฟลตเบรด (Flatbread) หรือขนมปังแบน ที่ใช้วัตถุดิบแป้งอัพไซเคิลเกือบ 20% และเป็นที่สนใจของผู้เยี่ยมชมงาน
- อาหารจากพืช: เทรนด์ความต้องการผลิตภัณฑ์จากพืชยังคงอยู่ ในปีนี้ นอกเหนือจากโซน Plant-Based food Pavilion ที่ภายในงานฯ ได้จัดขึ้นแล้ว ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ของตน ที่มีตัวเลือกทั้งเนื้อสัตว์หรือเนื้อจากพืช ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Prime Roots ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ Koji meat ที่ทำจากเห็ดรา (Fungi) ของญี่ปุ่น แบ่งเป็น เนื้อแฮม (Ham) เนื้อไก่งวง (Turkey) เปปเปอโรนี (Pepperoni) และซาลามิ (Salami) ที่ทำจากเห็ดรา โดยมีการแจกชิมภายในงานฯ ด้วย
- เทรนด์การยอมรับความหลากหลาย: ผู้บริโภคให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลาย ความเห็นต่างและความแตกต่าง (Diversity) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ ความพิการ และรสนิยมทางเพศมากขึ้น สิ่งนี้กำลังเป็น new normal ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านธุรกิจที่มีความหลากหลาย โดยภายในงานฯ มีโซน Diversity Pavilion ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์จาก 1) Women-Owned ธุรกิจที่มีผู้หญิงตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปถือหุ้นและบริหารอย่างน้อย 51% 2) Minority-Owned ธุรกิจที่มีชนกลุ่มน้อยตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของหรือบริหารอย่างน้อย 51% ประกอบด้วยชาวเอเชีย ผิวดำ ลาตินอเมริกา เป็นต้น 3) LGBT-Owned Business ธุรกิจที่มีบุคคลที่ระบุว่าตัวเองเป็น LGBT ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% 4) Disability-Owned ธุรกิจที่มีผู้พิการตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% 5) Veteran-Owned ธุรกิจที่มีทหารผ่านศึกตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% โดยโซน Diversity Pavilion ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีในสหรัฐฯ กำลังเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากชาวอเมริกันหันมาใส่ใจด้านอาหารการกินโดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี นักธุรกิจเเละนักลงทุนจึงหันมาทำธุรกิจเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้บริโภคมิลเลียนเนียล (Millennials) และพบว่าการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่สมัยใหม่นั้นนิยมเลือกสินค้าที่ปลอดการใช้สารเคมีให้กับลูกและครอบครัว ถือว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมาขายในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การจัดการ ให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิค พร้อมควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามกฎของ USDA และต้องทำการขอใบรับรองจากผู้ที่สามารถออกใบรับรองให้ได้ตามกฏหมาย เพื่อให้สามารถปิดฉลากอย่างถูกกฎหมายว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ams.usda.gov/about-ams/programs-offices/national-organic-program
https://progressivegrocer.com/big-ideas-and-trends-summer-fancy-food-show
สคต. นิวยอร์ก
มิถุนายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)