หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > เทรนด์ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนให้เครื่องดื่มจากพืชได้รับความนิยมในจีน

เทรนด์ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนให้เครื่องดื่มจากพืชได้รับความนิยมในจีน

รายงานของสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม Qianzhan ระบุว่า ในช่วงระหว่างพ.ศ. 2563-2568 ตลาดเครื่องดื่มนมจากพืชและธัญพืชตระกูลถั่วต่างๆ (Plant-based milk) ของจีนจะยังคงรักษาอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี  และคาดการณ์ว่าตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านหยวนในปี 2568

ทั้งนี้ เครื่องดื่มนมจากพืช ไม่จัดว่าเป็นนวัตกรรมล่าสุดหรือเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าชนิดใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากนมจากพืช อย่างเช่น นมวอลนัทและนมอัลมอนด์มีมานานหลายทศวรรษแล้ว และผู้เชี่ยวชาญตลาดยังกล่าวว่า ยอดขายของนมทั้งสองชนิดก็เริ่มจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ด้านองค์กรวิจัย Mintel Group ให้ข้อมูลว่า เครื่องดื่มจากพืชแบบดั้งเดิมยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างสูง โดยเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของมะพร้าวและถั่วเหลืองนับเป็นเครื่องดื่มที่อยู่ในรายการ “ดื่มแล้ว จะกลับไปซื้ออีก” ของผู้บริโภคชาวจีน ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของพืชตระกูลถั่วเปลือกแข็งต่างๆ อย่างเช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ และวอลนัท จัดอยู่ในรายการ “ดื่มแล้ว อาจไม่กลับไปซื้ออีก” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มของจำนวนลูกค้าเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของถั่วเปลือกแข็งแบบดั้งเดิมกำลังลดลงเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกัน พบว่า ผลิตภัณฑ์นมข้าวโอ๊ตกำลังเป็น “เครื่องดื่มนมจากพืช” ดาวรุ่งดวงใหม่ในท้องตลาดจีน   จากข้อมูลของ Euromonitor International ระบุว่า ในปี 2565 นมข้าวโอ๊ตมีสัดส่วนราวๆร้อยละ 2.4 ของนมจากพืชในตลาดจีน (ในแง่ส่วนแบ่งตลาดของยอดค้าปลีก) โดยมีอัตราการเข้าถึงตลาดใกล้เคียงกับเครื่องดื่มวอลนัทและอัลมอนด์ ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการเติบโตและศักยภาพทางการตลาดของเครื่องดื่มข้าวโอ๊ตในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มจากพืชชนิดใหม่ในตลาดจีน

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ FreeNow coconut milk  เริ่มต้นขึ้นในปี 2558 โดยมีโรงงานแห่งแรกในมณฑล  เจ้อเจียง และได้สร้างโรงงานแห่งที่สองในมณฑลไห่หนานเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 100,000 ตันต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกำลังการผลิตของทั้งสองโรงงานแล้ว ปัจจุบัน Free-Now มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 200,000 ตันต่อปี  นอกจากนี้ บริษัทให้ข้อมูลว่านมจากมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ของบริษัทได้เพิ่มขึ้นสองเท่า ทั้งในปี 2564 และปี 2565 (โดยในปี 2565 นมจากมะพร้าวสร้างรายได้ให้บริษัทมากกว่า 1,000 ล้านหยวน) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวของบริษัทผลิตจากมะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทย ก่อนจะส่งมาแปรรูปที่ประเทศจีน โดยมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 18.9 หยวนต่อลิตร บริษัทได้ดำเนินธุรกิจทั้งรูปแบบ B2B ซึ่งส่วนใหญ่คือการจำหน่าย/ซัพพลายให้แก่ร้านอาหารต่างๆ ขณะที่ผลิตภัณฑ์พร้อมดื่ม ก็มุ่งเป้าไปที่ผู้ค้าปลีกต่างๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเครื่องดื่มจากพืช  ซึ่ง Mintel Group ให้ความเห็นว่า เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบจากถั่วเหลืองจะยังแสดงแนวโน้มที่ดีในตลาดจีน เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการได้รับการรับรองโดย National Nutrition Guide ขณะที่ส่วนผสมโปรไบโอติกจะมีโอกาสในการพัฒนาได้อีกอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มนมจากพืชเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในตลาดจีน ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับรสชาติในการเลือกซื้อสินค้า  ปัจจัยรองลงมา คือคุณภาพและปริมาณของโปรตีนที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ดังนั้น Mintel Group ให้ข้อเสนอแนะว่า รสชาติจัดเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเครื่องดื่มจากพืช ในขณะที่คุณภาพและปริมาณของโปรตีนสามารถช่วยให้แบรนด์สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ แบรนด์ต่างๆ ควรพิจารณาปรับปรุงรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนอยู่เสมอ รวมทั้งดำเนินการอัพเกรดสูตรส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วย

————————————————–

https://www.chinadaily.com.cn

แปลและเรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login