หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > เซอร์เบียเปิดใช้ทางด่วนอัจฉริยะสายแรกของประเทศ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมโลจิสติกส์

เซอร์เบียเปิดใช้ทางด่วนอัจฉริยะสายแรกของประเทศ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมโลจิสติกส์

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 1-5 พฤษภาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ประธานาธิบดีเซอร์เบีย นาย Aleksandar Vučić เป็นประธานในพิธีเปิดใช้งานทางด่วนเส้นทางเมือง Pojate – เมือง Makrešan ระยะทาง 16.9 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการระยะแรกของโครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) หมายเลข A5 หรืออีกชื่อคือ Morava Corridor เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักและมาใช้เส้นทางเมือง Pojate – เมือง Makrešan มากขึ้น รัฐบาลเซอร์เบียจึงยกเว้นการเก็บค่าผ่านทางเส้นทางดังกล่าวจนถึงเดือนตุลาคม 2566

 

ทั้งนี้ ระยะที่สองของโครงการ เส้นทางเมือง Makrešan – เมือง Koševi ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566 จะตัดผ่านเมือง Kruševac ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก

 

โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง Morava Corridor เริ่มต้นเส้นทางจากเมือง Pojate ในภาคกลาง  ของเซอร์เบีย ไปสิ้นสุดที่เมือง Preljina และ Čačak เมื่อแล้วเสร็จ จะมีระยะทางรวม 112 กิโลเมตร มีช่องจราจร 4 ช่องจราจร กว้าง 30 เมตร

 

รูปภาพที่ 1: เส้นทาง Motorway เซอร์เบีย หมายเลข A5 หรืออีกชื่อคือ Morava Corridor
ที่มาของข้อมูล: Kraljevo Online

 

โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมภาคตะวันออกกับตะวันตกของเซอร์เบีย และส่งเสริมการคมนาคมในภูมิภาคบอลข่าน ด้วยการเป็นเส้นทางเชื่อมทางหลวงสำคัญสองสาย ได้แก่ (1) ทางพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข A1 แนวเส้นทางจากภาคเหนือไปภาคใต้ ผ่านเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กรุงเบลเกรด เมือง Subotica เมือง Novi Sad และเมือง Niš สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศฮังการี (ทางเหนือ) และโคโซโว (ทางใต้) ได้ และ (2) ทางพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข A2 เส้นทางกรุงเบลเกรด-เมือง Požega

 

รูปภาพที่ 2 และ 3: เส้นทาง Motorway เซอร์เบีย หมายเลข A1 และ A2
ที่มาของข้อมูล: Wikipedia

 

ทั้งนี้ ทางพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข A2 ปัจจุบันเพิ่งสร้างถึงเมือง Preljina และกำลังสร้างส่วนต่อขยายระยะถัดไป เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถเดินทางตรงจากกรุงเบลเกรดจนถึงเมือง Požega ทางตะวันตกของเซอร์เบีย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศมอนเตเนโกรและบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมทั้ง จะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางพิเศษ Corridor XI/4B เส้นทางกรุงเบลเกรด-เมือง Bar ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของมอนเตเนโกร ทว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และวางแผนหาผู้ร่วมทุน

 

รูปภาพที่ 4: แผนการสร้างเส้นทางทางพิเศษ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย-เมือง Bar ประเทศมอนเตเนโกร
ที่มาของข้อมูล: Investitor

 

ความสำคัญของทางพิเศษหมายเลข A5 หรือ Morava Corridor คือ จะเป็นทางพิเศษสายแรกในประเทศที่ใช้ระบบถนนอัจฉริยะ (Smart Road) ประกอบด้วย เสารับสัญญาณ 4G และ 5G กล้องตรวจจับความเร็วและป้ายทะเบียน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่รองรับการขับขี่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ นับเป็นความพยายามครั้งสำคัญของรัฐบาลเซอร์เบียที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเซอร์เบียให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล

 

การเปิดให้บริการทางพิเศษสายนี้ จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการคมนาคมในประเทศเซอร์เบีย รองรับปริมาณการจราจรที่สูงขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการร่นระยะเวลา ช่วยให้การเดินทางจากภาคตะวันออกไปภาคตะวันตกของประเทศลดเวลาลงเหลือเพียง 2.5 ชั่วโมง (จากเดิมประมาณ 5-6 ชั่วโมง) อีกทั้ง ยังช่วยต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง

 

รูปภาพที่ 5: แผนที่ประเทศเซอร์เบีย และประเทศเพื่อนบ้านของเซอร์เบีย
ที่มาของข้อมูล: Encyclopaedia Britannica

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ความท้าทายสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของเซอร์เบีย ได้แก่ การจราจรติดขัดโดยเฉพาะในเขตเมือง นอกจากนี้ ปัญหาการขาดงบประมาณและการลงทุนจากต่างประเทศ ถนนในเซอร์เบียจึงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการสร้างถนน และขาดการบำรุงรักษาที่ดี ส่งผลให้คุณภาพถนนไม่ทัดเทียมมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่ำ ทำให้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์และการคมนาคมของเซอร์เบียมาโดยตลอด

 

รัฐบาลเซอร์เบียต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเดินหน้าดำเนินโครงการก่อสร้างถนนหลายโครงการ รวมถึงโครงการก่อสร้างทางพิเศษหมายเลข A5 ดังกล่าว นอกจากนี้ เซอร์เบียพึ่งพาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ได้แก่ ฮังการี โรมาเนีย โครเอเชีย สโลวีเนีย เซอร์เบียจึงมีแรงจูงใจสำคัญที่จะต้องมุ่งมั่นบรรลุเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เห็นว่าโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เป็นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศเซอร์เบียที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่ง เพราะคุณประโยชน์สำหรับการพัฒนานี้ จะช่วยลดความแออัดของจำนวนรถบรรทุกขนส่งสินค้า/บริการที่มีมากขึ้นตามการขยายตัวของการค้า สามารถส่งมอบสินค้าถึงปลายทางได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชน ทั้งเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวและการไปทำงาน ดังนั้น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้จึงจะส่งผลดีต่อทั้งการเพิ่มมูลค่าการค้าในประเทศ การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคบอลข่าน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้

 

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายธุรกิจไปยังเซอร์เบียและภูมิภาคบอลข่าน ก็จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเซอร์เบียนี้ด้วย เนื่องจากการกระจายสินค้าในภูมิภาคบอลข่าน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อาศัยการขนส่งทางบก ทั้งขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และรถบรรทุกขนส่งสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการลำเลียงสินค้าที่ใช้เชื่อมโยงหรือประสานกับการขนส่งประเภทอื่นได้ดี กล่าวคือ สามารถรับช่วงต่อสินค้าจาก/หรือส่งต่อให้การขนส่งทางอากาศหรือทางน้ำได้สะดวก เนื่องจากมีระบบโครงข่ายถนนรองรับอยู่แล้ว เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักและปริมาณมากในระยะทางไกล ส่งมอบสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้รวดเร็ว อีกทั้ง มีต้นทุนอัตราค่าบริการขนส่งไม่แพงเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศ แต่ใช้เวลาไม่นานเท่าการขนส่งทางน้ำ

 

ด้านโอกาสทางการค้าของไทยในเซอร์เบีย มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเซอร์เบียประจำปี 2565 อยู่ที่ 1,226.05 ล้านบาท ขยายตัว 35.79% จากปี 2564 ไทยส่งออกไปเซอร์เบียเป็นมูลค่า 822.38 ล้านบาท และนำเข้าจากเซอร์เบียเป็นมูลค่า 403.67 ล้านบาท โดยรวมแล้วไทยได้ดุลการค้ากับเซอร์เบีย 418.71 ล้านบาท ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเซอร์เบียอยู่ที่ 428.01 ล้านบาท ขยายตัว 52.38% จากไตรมาสที่ 1/2565 คิดเป็นการส่งออก 286.61 ล้านบาท และการนำเข้า 141.41 ล้านบาท ในไตรมาสแรกไทยจึงยังได้ดุลการค้ากับเซอร์เบีย 145.20 ล้านบาท

 

สินค้าส่งออกหลักส่วนมากเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่วนสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปเซอร์เบียนั้น ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยาง รวมถึงเนื้อเป็ดสด/แช่เย็น/แช่แข็ง

 

ที่มาของข้อมูล:

  1. “No toll collection on Morava Corridor until October” – eKapija (Website), Retrieved from: Link
  2. “Serbia: Construction of Morava Corridor to begin in early 2022” – B92 (Website), Retrieved from: Link

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login