หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > เจาะตลาดรองเท้าในสหรัฐอเมริกา

เจาะตลาดรองเท้าในสหรัฐอเมริกา

ตลาดผลิตภัณฑ์รองเท้านับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทั่วโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2576 จะมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นถึง เกือบ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดของตลาดนี้  จากสถิติในปี 2564 พบว่าประเทศสหรัฐฯ มีมูลค่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์รองเท้าในตลาดกว่า 7.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 8.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนเป็นเป็นอันดับหนึ่งของโลก


ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์การตลาดของบริษัท IMARC Group (บริษัทชั้นนำด้านกลยุทธ์และการวิจัยการตลาดทั่วโลก) ได้ลงความเห็นว่ามูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์รองเท้าของประเทศสหรัฐคาดว่าจะดีดตัวสูงขึ้นถึง 3.11% หรือ กว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

รองเท้าส่วนมากที่วางขายในประเทศสหรัฐฯ นิยมผลิตขึ้นมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน อาทิ ผ้า ยาง พลาสติก หนังแท้ และหนังเทียม เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์รองเท้าแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท อาทิ รองเท้ากีฬา รองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะ หรือรองเท้าลำลอง  รวมถึงรองเท้าแบรนเนม ไม่ว่าจะเป็น Hi-Street และ Hi-End ที่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดรองเท้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกปี

ผลิตภัณฑ์รองเท้านับเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายในเรื่องของลักษณะ รูปทรง และขนาดเป็นอย่างมาก หากย้อนกลับไปในอดีต ผู้คนสมัยก่อนสามารถดำรงชีวิตได้โดยมีรองเท้าสำหรับสวมใส่เพียงแค่ 1 หรือ 2 คู่ เท่านั้น ในทางกลับกัน จากรายงานของเว็บไซต์ www.whattheshoes.com และ www.fashioncoached-.com  พบว่า ค่าเฉลี่ยรองเท้าต่อคนที่คนอเมริกันในสมัยปัจจุบันนี้ถือครองอยู่ที่ 19 คู่ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการครอบครอง ดังนี้ เพศชาย 12 คู่ เพศหญิง 27 คู่ นับว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ สาเหตุที่จำนวนการครอบครองรองเท้ากระโดดเพิ่มขึ้นสูง เป็นผลมาจากที่ชาวอเมริกันส่วนมากในสมัยนี้ต้องการที่จะเก็บสะสมรองเท้าหลากหลายรูปแบบ เพื่อจุดประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย และต้องการที่จะตอบโจทย์การใช้งานอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแบบเป็นทางการที่ใช้ในการทำงาน เช่น รองเท้าคัทชู  รองเท้ารัดส้น รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าแบบไม่เป็นทางการ อาทิ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าเปิดส้น หรือรองเท้าแตะ นอกจากนี้ คนยุคใหม่ยังนิยมที่จะซื้อ รองเท้าหลากหลายประเภทเพื่อใช้ตอบโจทย์ความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น รองเท้ากีฬาสำหรับใช้ในการเล่นกีฬาเท่านั้น

จากข้อมูลปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกานำเข้ารองเท้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 1.87 พันล้านคู่จากหลายทวีปทั่วโลก โดยพบว่าใน พ.ศ. 2564 สหรัฐฯ ได้มีการนำเข้าจากทวีปเอเชียเป็นหลัก และแน่นอนว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ครองอันดับ 1 ในการผลิตและส่งออกรองเท้าให้กับสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยอีกประการที่ทำให้ตลาดรองเท้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลมาจากการที่รองเท้าถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะและตัวตนของผู้บริโภคเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประกอบกับ ความสำเร็จในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของเจ้าของแบรนด์รองเท้าและร้านค้าปลีกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกซื้อของผู้บริโภค ดังเช่น บริษัท ไนกี้ (Nike) ที่กลยุทธ์ทางการตลาดส่งผลให้หลายปีที่ผ่านมานี้ บริษัทได้ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดผลิตภัณฑ์รองเท้าเป็นอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐฯ และในปี พ.ศ. 2563 ทางบริษัทมี
ผลประกอบการสูงถึง 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

จากรายงานการสรุปของเว็บไซต์ www.statista.com แสดงให้เห็นว่าเครื่องแต่งกายและรองเท้าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุดกีฬาและรองเท้ากีฬาเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสและมีความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการเติบโตทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2564 ยอดการขายรองเท้ากีฬาพุ่งสูงขึ้นไปถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วน 2 ใน 3 ของผู้บริโภคสินค้าชนิดนี้เป็นของกลุ่มคนอายุ 18-23 ปี และส่วนมากเป็นเพศหญิง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในการซื้อรองเท้าอยู่ที่ 154.99 เหรียญสหรัฐต่อครัวเรือน

ความคิดเห็นของ สคต. นิวยอร์ก

ผลิตภัณฑ์รองเท้านับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และคนทำงาน สาเหตุที่สินค้าได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมาจากหลายปัจจัย อาทิ กระแสวัตุนิยม กระแสสังคม รวมทั้ง กระแสการตลาดที่เจ้าของแบรนด์ได้วางตัวบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่นำคนดังมาสวมใส่สินค้า ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากซื้อ เพื่อจะได้สวมใส่สินค้าเหมือนกับคนที่เราชื่นชอบ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้ามายังสหรัฐอเมริกาควรติดตามพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของชาวอเมริกันมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการวางกลยุทธ์การตลาดในการใช้พรีเซ็นเตอร์หรือ Social Influencer ที่ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากลองเทียบอัตราการเติบโตกับผลประกอบการของผลิตภัณฑ์แล้วนั้น นับได้ว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนเป็นอย่างมากในตลาดอเมริกันยุคปัจจุบัน

ที่มา:

www.statista.com , www.factmr.com , www.whattheshoes.com , www.fashioncoached-.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login