ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ อยู่ที่ 73,278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.1% จากปีที่แล้ว อนึ่ง ยอดขายซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ ได้ขยายตัวอย่างมากภายหลังจากช่วงโควิด-19 ในช่วงปี 2565 โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 8% ทำให้ยอดขายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ นั้นมีสัดส่วนประมาณ 10.3% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด โดยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 705,355 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน หรือ 0.2% หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายซุปเปอร์มารเก็ตแบบดั้งเดิม และยอดขายซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยในเดือนมิถุนายน ยอดขายซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออนไลน์อยู่ที่ 7,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยยอดขายออนไลน์ในเดือนมิถุนายนนี้มีสัดส่วน 9.6% ของยอดขาย Grocery ทั้งหมดในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม พบว่าจำนวนของผู้ซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้น 1% และมูลค่าคำสั่งสินค้าเฉลี่ยต่อครั้ง (Average Order Value) เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ทั้งนี้ ยอดขายของซุปเปอร์เก็ตออนไลน์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ได้ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับยอดขายหกเดือนแรกของปี 2565 อนึ่ง แม้ ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จะไม่ขยายตัวในปี 2566 นี้ จากการคาดการณ์โดย Brick Meet Click พบว่ายอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จะโตเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีหน้า และคาดว่าจะโตขึ้นเฉลี่ย 11.7% ในช่วง 5 ปีต่อไปนี้
จากการสำรวจของ PYMNTS บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจของสหรัฐฯ ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 2,426 คนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันไปเลือกซื้อสินค้า grocery ผ่านทางซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยพบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 7.2% สั่งซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเป็นประจำ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากในช่วงก่อนเกิด Covid-19 ที่มีสัดส่วนเพียง 0.2% และมีผู้บริโภคกว่า 39% ที่เลือกซื้อสินค้าผ่าน 2 ช่องทางทั้งทางออนไลน์และทางซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้า grocery ออนไลน์นั้น พบว่าจะเป็นลูกค้าในกลุ่ม Millennials (64.3%) และ Gen Z (58.6%) เป็นส่วนใหญ่ โดยในจำนวนนี้นั้นกว่า 12.8% ของผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials และ 6.3% ของผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z จะซื้อสินค้าออนไลน์เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงจะมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า เนื่องจากเหตุผลด้านความสะดวกสบาย จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องออนไลน์ สูงถึง 56.9% ในขณะที่ผู้บริโภคมีรายได้ระหว่าง 50,000-100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องออนไลน์ 46.7% และผู้บริโภคมีรายได้น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องออนไลน์เพียง 32.9%
ในด้านของการเลือกซื้อสินค้า พบว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสูงในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้รูปแบบการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไป จากการสำรวจการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในซุปเปอร์มาร์เก็ตโดย PYMNTS พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 48% ลดการซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน และ 36% ลดการซื้อสินค้าบำรุงสุขภาพ นอกจากนี้ สำหรับสินค้าประเภทอาหาร พบว่า 35% ของผู้บริโภคลดการซื้ออาหารกระป๋อง และ กว่า 31.9% ลดการซื้อขนมคบเคี้ยวลง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ยังคงได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าอาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอาหารในหมวดหมู่ Specialty Food เช่น ชีส คาเวียร์ รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่มีความพิเศษและแปลกใหม่
สำหรับสินค้าอาหาร ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีเงื่อนไขในการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จากการสำรวจโดยบริษัท McKinsey & Company พบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันชื่นชอบและมีความต้องการสินค้าอาหารพื้นเมืองหรืออาหารประจำพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นถึง 39% สนใจที่จะซื้อสินค้าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 31% เลือกซื้อสินค้าที่มีโปรตีนสูง 30% สินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่งต่าง ๆ 27% สินค้าอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 25% สินค้าอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ 24% สินค้าอาหารที่บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 23% สินค้าแคลลอรี่ต่ำ 22% สินค้าอาหาร gluten-free 10% สินค้าอาหารมังสวิรัติ 9% และสินค้าอาหารเจ 6%
สำหรับในสหรัฐฯ ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Walmart Kroger Costco Target และ Trader Joe’s และสำหรับซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย เช่น H-Mart (สัญชาติเกาหลี) 99 Ranch Market (สัญชาติไต้หวัน) และ Great Wall (สัญชาติจีน) สำหรับบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดขายสินค้า Grocery ออนไลน์ในสหรัฐฯ ได้แก่ Walmart รองลงมาคือ Amazon และ Kroger ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ได้มีซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์รายเล็กหลากหลายเจ้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น gopuff thrivemarket shipt vitacost และ imperfect foods นอกจากนี้ เว็ปไซต์จำหน่ายสินค้า Grocery จากเอเชียก็มีการขยายตัวมากขึ้น เช่น Weee (sayweee.com) Umamicart (umamicart.com) Yamibuy (yamibuy.com) และ H Mart (hmart.com) เป็นต้น
ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก
ธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนมากได้หันมาสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าบางชนิดลดลง แต่สินค้าบางประเภท เช่น อาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอาหารในหมวดหมู่ Specialty Food ยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันก็มีเงื่อนไขในการเลือกซื้อสินค้าอาหารเพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสุขภาพ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้า Grocery มายังสหรัฐฯ จึงควรใส่ใจกับเงื่อนไขดังกล่าวเหล่านี้และอาจเพิ่มการเจาะตลาดด้วยช่องทางออนไลน์เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น
grocerydive.com/ insider intelligence/ PMNTS/ McKinsey and Company/ U.S. Census Bureau
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)