หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.4 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน

เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.4 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2566

เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.4 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน

แคนาดาประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ระดับร้อยละ 3.4 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเงินเฟ้อล่าสุดเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 23 เดือน

ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าธนาคารกลางแคนาดาจะยังคงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อปราบเงินเฟ้อให้ราบคาบ เพราะหากเจาะลึกลงไปในอัตราเงินเฟ้อล่าสุดพบว่า ราคาสินค้าอาหารยังคงขยายตัวที่ระดับร้อยละ 9 นับว่ายังคงอยู่ในระดับที่สูง (แม้ว่าลดลงจากร้อยละ 9.1 ในเดือนเมษายน 2566) ทั้งนี้ สาเหตุเงินเฟ้อลดลงนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ท่ามกลางความกังวลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก (ราคาน้ำมันลดลงร้อยละ 18.3) โดยหากคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อที่หักราคาน้ำมันออกไปเงินเฟ้อจะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.4 นอกจากนี้ ต้นทุนการกู้จำนอง (Mortgage Cost) อาทิ ค่ากู้เงินผ่อนบ้านในส่วนของภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ทำให้ต้นทุนการซื้ออสังหาฯ สูงขึ้น ผลักดันให้ค่าเช่า (บ้านพัก) ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพในแคนาดา ซึ่งนักวิเคราะห์มีการคำนวณว่า หากมีการหักตัวเลขในส่วนของ Mortgage Cost ที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.5

ธนาคารกลางแคนาดาจะประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยนักวิเคราะห์คาดว่าอาจมีการขึ้นอีกร้อยละ 0.25 จากระดับในปัจจุบันที่ร้อยละ 4.75 ซึ่งอาจเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายของปีนี้และจะตรึงอัตราดังกล่าวในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี ทั้งนี้ ก่อนวันที่จะมีการประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป หน่วยงานสถิติแห่งชาติแคนาดาจะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานและตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) รายเดือน ซึ่งจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสำหรับธนาคารกลางเพื่อจะใช้ในการประกอบพิจารณาว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือจะคงระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผลของการใช้นโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีในการควบคุมเงินเฟ้อที่เคยพุ่งสูงสุดในกลางปี 2565 ที่ระดับร้อยละ 8.1 ให้ลดลงมาใกล้เป้าหมายกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 2 มากขึ้น

Mr. Stephen Gordon อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Laval University มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากในเดือนพฤษภาคม 2566 มีสาเหตุมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อที่สูงในช่วงปีก่อน นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้ราคาสินค้าเกือบทุกประเภทเริ่มปรับสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา บวกกับปัญหาซ้ำซ้อนจากห่วงโซ่อุปทานที่ลากยาวหลังจากวิกฤตโควิด ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ รวมถึงสินค้าพลังงานในปัจจุบันเริ่มปรับลดลงมาแล้ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวแต่ยังคงเป็นระดับที่ต่ำไม่มากพอที่จะสามารถทำให้ธนาคารกลางไว้วางใจกับเงินเฟ้อ เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยมากระทบ ตั้งแต่ทิศทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแต่ตัวเลขการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง (โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการ) การจับจ่ายของภาคผู้บริโภคยังคงสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตัวเลข GDP ล่าสุดยังไม่มีสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจในแคนาดา

ความเห็นของ สคต.

ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในแคนาดาเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ จากตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่มิถุนายน 2564 เป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมาที่เพิ่มจากจากระดับร้อยละ 0.25 มาถึงระดับร้อยละ 4.75 ในเดือนมิถุนายน 2566 อย่างไรก็ตาม หากมีการเจาะลึกถึงอัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) ลดลงมาที่ระดับ
ร้อยละ 3.95 ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูง จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางแคนาดาอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในดือนกรกฎาคม 2566 ไปเป็นที่ระดับร้อยละ 5 เพื่อกดดันเงินเฟ้อให้ลดลง

ถึงแม้ว่าผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจแคนาดา แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลให้ค่าเงินแคนาดาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก (ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินเหรียญแคนาดาไปทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ) โดยค่าเงินแคนาดาที่แข็งค่าอาจจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยมาแคนาดา ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหาร ที่รับผลกระทบที่น้อยกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มปัจจัยพื้นฐาน และแคนาดามีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบาย Immigration ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยมาแคนาดา

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login