สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14-18 สิงหาคม 2566
เงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 กดดันดอกเบี้ยอาจขึ้นต่อ
อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิเคราะห์กับตัวเลขสถิติล่าสุด ซึ่งเคยประเมินไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2566 จะปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับร้อยละ 3 เพิ่มจากร้อยละ 2.8 ในเดือนมิถุนายน 2566 ทำให้นักวิเคราะห์จากธนาคาร Scotia Bank มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นล่าสุด อาจเป็นสัญญาณการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อรอบใหม่ ที่อาจนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
ธนาคารกลางแคนาดาตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ที่ระดับร้อยละ 3 และอาจต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี หรือจนกว่าปี 2568 ที่เงินเฟ้อจะสามารถปรับลดลงมาในกรอบร้อยละ 2 แต่หากเจาะลึกตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดจะพบว่า ราคาสินค้าอาหารขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อนที่ระดับร้อยละ 9.1 เป็นผลมาจากราคาผักและผลไม้สดเริ่มปรับราคาลดลงรวมถึงราคาขนมปังที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าคำนวณเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาน้ำมันและสินค้าพลังงาน จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) ลดลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 ลดลงจากร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาบริการในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และราคาสินค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
นอกจากราคาพลังงานที่ได้ปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้นทุนดอกเบี้ยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวขึ้น โดยต้นทุนการกู้ซื้อบ้าน (Mortgage Cost) ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก
ร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ขณะที่ค่าเช่าบ้านขยายตัวร้อยละ 5.5 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงจากร้อยละ 5.8 ในเดือนมิถุนายน 2566
นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะปราบเงินเฟ้อได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยกลางในปัจจุบันที่ระดับร้อยละ 5 นับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบ 22 ปีและได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว เช่น การหดตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน โดยตัวเลขการว่างงานล่าสุดในแคนาดา ได้ขยับเพิ่มขึ้นที่ระดับร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานที่ขยายตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน
ความเห็นของ สคต.
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 3.0 ได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางแคนาดาในการทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยว่าน่าจะชะลอตัวแล้วและไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป โดยอัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ระดับร้อยละ 8.1 แต่ได้ปรับลดต่อเนื่องติดต่อกัน 12 เดือน จนตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่เงินเฟ้อมีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) ยังคงมีทิศทางปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากโดยลดลงที่ระดับร้อยละ 3.3 ลดลงจากร้อยละ 3.4 จากเดือนมิถุนายน 2566 แต่นักวิเคราะห์มองว่าทิศทางราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นรอบใหม่นี้ จะเริ่มส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนบริการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 เดือนนี้ ที่อาจกลายเป็นวัฏจักรขาขึ้นของเงินเฟ้อที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมีสัญญาณปรับขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค การลดการจับจ่าย เนื่องจากรายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่ากับอัตราที่เพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในปัจจุบัน
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)
——————————————————————-
ที่มา :
The Globe and Mail/CBC News/Financial Post
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)