บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยกำลังรุดหน้าบุกตลาดญี่ปุ่นและตลาดในประเทศอาเซียน ชูราคาย่อมเยาและคุณสมบัติพิเศษติดทนนาน สู้กับแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีใต้และจีน โดยบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ของประเทศไทยได้ร่วมทุนกับบริษัท Marubeni Corporation ของญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดส่งออก
ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ชื่นชอบแบรนด์เครื่องสำอางไทย Cathy Doll ให้ความเห็นว่า “เครื่องสำอางไทยสีสวยสด แพคเกจน่ารัก ราคาย่อมเยาและคุณภาพดี” แบรนด์ Cathy Doll เป็นแบรนด์เครื่องสำอางหลักของบริษัทคาร์มาร์ท และวางจำหน่ายกว่า 10 ประเทศ และเริ่มวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นในปี 2564 ตามร้าน Drug Store และร้านค้าปลีกรายใหญ่ต่างๆ แบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงช่วงอายุ 20 – 30 กว่าปี
แบรนด์เครื่องสำอางไทยหากเปรียบเทียบกับแบรนด์ต่างประเทศแล้ว แบรนด์เครื่องสำอางไทยมีปริมาณน้อยแต่ราคาถูกกว่าประมาณ 1 ใน 4 นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อนและมีความชื้น เครื่องสำอางไทยจึงมีการพัฒนาคุณสมบัติทำให้เครื่องสำอางติดทนนานซึ่งเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเครื่องสำอางไทย การแต่งหน้าสไตล์เกาหลีได้รับความนิยมในญี่ปุ่นจากอิทธิพลของความโด่งดังของไอดอลเกาหลี การแต่งหน้าสไตล์ไทยก็ได้รับความนิยมเช่นกัน จนเกิดคำว่า “สวย เมค” (เมค หรือ make = การแต่งหน้า) ที่มีจุดเด่นการแต่งคิ้วหนาและริมฝีปากอิ่มเอิบ
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทคาร์มาร์ทได้เพิ่มทุนโดยมี บริษัท Marubeni Corporation ได้ร่วมทุน 1,436 ล้านบาท เพื่อใช้ช่องทางจำหน่ายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศของ Marubeni ในการขยายตลาด โดยเมื่อปี 2564 Marubeni กับบริษัท AIN HOLDINGS INC. ประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งบริษัทร่วมกันเพื่อเปิดร้าน drug store ที่มีกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายชื่อ “AINZ&TULPE” ในประเทศมาเลเซีย 3 สาขา และกำลังพิจารณาขยายร้านในประเทศอื่นๆอีกด้วย
จากการร่วมทุนกับ Marubeni บริษัทคาร์มาร์ทได้ตั้งเป้ายอดจำหน่ายปี 2569 เท่ากับ 4,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2565 และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดจำหน่ายในต่างประเทศจากร้อยละ10 เป็นร้อยละ 15
นอกจากบริษัทคาร์มาร์ทแล้ว บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยรายอื่นอย่าง บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศเช่นกัน โดยตั้งเป้าขยายร้านที่วางจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ ในประเทศญี่ปุ่นจากประมาณ 2,000 ร้าน เป็น 3,000 ร้าน ภายในสิ้นปี 2566 และมีเป้าเพิ่มยอดจำหน่ายร้อยละ 40 เป็น 1,000 ล้านบาท แป้งของศรีจันทร์ที่ติดทนนานนับได้ว่าเป็นสินค้าเครื่องสำอางไทยที่บุกเบิกตลาดญี่ปุ่น ทำให้เครื่องสำอางไทยเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่น บริษัทกำลังพิจารณาพัฒนาเครื่องสำอางร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเติบโตมาจากการรับจ้างผลิตให้กับเครื่องสำอางต่างประเทศ ทำให้บริษัทผู้ผลิตไทยรู้จักการพัฒนาสินค้าและได้เรียนรู้ทำให้มีความสามารถในด้านการทำแบรนด์ มีการนำมาปรับให้เหมาะกับภูมิอากาศของประเทศไทยและพฤติกรรมผู้บริโภคของไทย กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องสำอางไทย แบรนด์เครื่องสำอางไทยได้เติบโตและเริ่มมองตลาดต่างประเทศ และด้วยคนเอเชียที่ให้ความสำคัญกับความงามมากขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตทำให้มูลค่าตลาดความงามในทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มูลค่าสูงสุดในโลก บริษัท McKinsey & Company ได้คาดการณ์ว่า ตลาดความงามของเอเชียในช่วงปี 2565 – 2570 จะเติบโตประมาณร้อยละ 7 – 8 และจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทยทำให้ทราบว่า ปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกี่ยวกับความงามมูลค่า 78,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีก่อน และประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 หรือมีมูลค่าร้อยละ 12 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ ความนิยมซีรีย์ไทยในญี่ปุ่นก็มีส่วนช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกอีกด้วย
บริษัทที่ปรึกษาของประเทศเยอรมนี Roland Berger Ltd. ให้ความเห็นว่า คู่แข่งเครื่องสำอางไทยในตลาดต่างประเทศคือ แบรนด์เครื่องสำอางจากประเทศจีน เนื่องจากเครื่องสำอางเกาหลีใต้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความชื่นชมและหลงใหลเกาหลี ส่วนแบรนด์เครื่องสำอางญี่ปุ่นเป็นกลุ่มราคาสูง ทำให้เครื่องสำอางไทยเกิดการแข่งขันด้านราคากับเครื่องสำอางจีนได้ง่าย
บริษัทเครื่องสำอางไทยส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท เบทเตอร์ เวย์ มียอดจำหน่ายประมาณ 4,000 ล้านบาท การที่จะดันแบรนด์เครื่องสำอางไทยให้เป็นที่รู้จักและโด่งดังในกลุ่มประเทศเอเชีย อาจจำเป็นต้องจับมือกับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ทั้งภายในและต่างประเทศ และการผลักดันด้วยซอฟท์พาวเวอร์ของไทย
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
จากการรายงานของ Cosmetic Importers Association of Japan ได้รายงานมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภท เครื่องสำอางในช่วงเดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่า 278,690 ล้านเยน (ประมาณ 66,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาดูสินค้าแต่ละหมวดพบว่า
กลุ่มสินค้าประเภทน้ำหอม โคโลญ (HS Code: 3303.00-000) มีมูลค่าการนำเข้า 28,730 ล้านเยน โดยเป็นการนำเข้าจากฝรั่งเศสเป็นอันดับ 1 มูลค่า 18,500 ล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 64.4 ของมูลค่าทั้งหมด รองลงมาคือ อิตาลี และสหรัฐอเมริกา
กลุ่มสินค้า Color make up (HS Code: 3304.10-000 และ 3304.30-000) มีมูลค่านำเข้า 41,370 ล้านเยน โดยเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นอันดับ 1 มูลค่า 12,140 ล้านเยน ฝรั่งเศสเป็นอันดับ 2 มูลค่า 10,190 ล้านเยน และจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 9,460 ล้านเยน
กลุ่มสินค้า Base Make up (HS Code: 3304.91-000 และ 3304.99-011) มีมูลค่าการนำเข้า 35,210 ล้านเยน โดยนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นอันดับ 1 มูลค่า 22,960 ล้านเยน รองลงมาคือ ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางที่กล่าวมานั้น ญี่ปุ่นนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นมูลค่าสูง และจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ติดอันดับต้นๆ แม้ประเทศไทยจะยังไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ในกลุ่มสินค้าดังกล่าว แต่เครื่องสำอางไทยก็เริ่มเป็นที่รู้จักและสนใจของกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่นจากความนิยมของซีรีย์วายของไทย มีการพูดถึงในบทความข่าวเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และมีผู้นำเข้าสินค้าเครื่องสำอางไทยหลายแบรนด์ ซึ่งผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพสินค้าไทย มูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการร่วมทุนของบริษัทไทยและบริษัทญี่ปุ่น ทั้งนี้ สินค้าเครื่องสำอาง ประเภทสิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม เช่น แชมพู ครีมนวดผม (HS Code: 3305.10-0000 และ 3305.90-909) ญี่ปุ่นนำเข้ามูลค่า 44,510 ล้านเยน โดยนำเข้าจากประเทศไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่านำเข้าร้อยละ 48 จากมูลค่านำเข้าทั้งหมด
ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 11 – 17 พฤศจิกายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOGS303X00Q3A031C2000000/
https://www.cosmelabo.shop/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)