หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > เครื่องดื่มชามะนาวพร้อมดื่มกำลังได้รับความนิยมในตลาดจีน

เครื่องดื่มชามะนาวพร้อมดื่มกำลังได้รับความนิยมในตลาดจีน

ตามข้อมูลการจำหน่ายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มบนแพลตฟอร์ม Tmall และ JD.com ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 ยอดจำหน่ายของเครื่องดื่มชามะนาวครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 33 ของยอดจำหน่ายเครื่องดื่มชาทั้งหมด (ซึ่งนับเป็นประเภทย่อยที่ใหญ่ที่สุดในหมวดหมู่เครื่องดื่มชา)  และจาก “รายงานการพัฒนาเครื่องดื่มชา ปี 2565” ที่เผยแพร่โดย Meituan ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2564 ปริมาณยอดจำหน่ายและมูลค่ายอดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ชามะนาวพร้อมดื่มมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ส่วนในปี 2565 เครื่องดื่มชามะนาวยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 130 และจนถึงฤดูร้อนของปีนี้ ก็ปรากฏว่าเครื่องดื่มชามะนาวยังได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันเครื่องดื่มชามะนาวบรรจุขวดพร้อมดื่มที่จำหน่ายในตลาดจีน มีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศ เครื่องดื่มชามะนาวของแบรนด์จีนที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น VITA, lemon republic และ Lan Fong Yuen  โดยเฉพาะแบรนด์ Lan Fong Yuen เป็นแบรนด์เครื่องดื่มชามะนาวพร้อมดื่มรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่เส้นทางการแข่งขันนี้ โดยเครื่องดื่มของ Lan fong yuen ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตน เพื่อผสมผสานรสเปรี้ยวของมะนาวและกลิ่นหอมของใบชาได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นเครื่องดื่มที่เป็นไปตามเทรนด์ด้านสุขภาพด้วย เพราะว่ามีน้ำตาลและไขมันเป็น“0” (ศูนย์) ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ แบรนด์ต่างชาติ อย่างเช่น Ahmadtea จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์Dilmah จากศรีลังกา และ Tess จากรัสเซีย ก็ได้รับความชื่นชอบจากผู้บริโภคชาวจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ชามะนาวแบรนด์ต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นชามะนาวชนิดซอง

นอกจากผลิตภัณฑ์ชามะนาวบรรจุขวดพร้อมดื่มแล้ว  ร้านค้าชาใหม่แบรนด์ต่างๆ ยังได้เปิดตัวเครื่องดื่มชามะนาวพร้อมดื่มอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีนด้วย  ทั้งนี้ ตาม “รายงานการพัฒนาการให้บริการอาหารของจีน ปี 2565” ระบุว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา จำนวนร้านค้า      ชาใหม่ที่ขายเฉพาะเครื่องดื่มชามะนาวทั่วประเทศจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ในปี 2564 นับเป็นปีที่มีจำนวนร้านค้าชามะนาวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนร้านฯ จาก 3,080 แห่งในปี 2563 เพิ่มเป็น 6,260 แห่ง คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 103.3 ต่อปี  และจากข้อมูล ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ปรากฏว่า ร้านค้าชามะนาวทั่วประเทศจีน มีจำนวนทั้งสิ้น 8,685 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เครื่องดื่มชามะนาวเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในตลาดจีน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

ข้อมูลเพิ่มเติม ผลกระทบ และความเห็นของ สคต.

“รายงาน/งานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ค.ศ. 2020” ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดย Ipsos ระบุว่า ในกลุ่มของผู้บริโภคชาวจีนที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1990 มีจำนวนร้อยละ 50 ที่เลือกซื้อเครื่องดื่มประเภทชามากกว่าเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ (รวมทั้งชาชนิดซองพร้อมดื่มและเครื่องดื่มชาที่ปรุงภายในร้าน)  ส่วนรสชาติที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นรสเลม่อน Lemon (39%)  รสมะนาว Lime (22%) และรสส้มจี๊ด Kumquats (11%)

เทรนด์หรือกระแสนิยมที่มีต่อเครื่องดื่มชามะนาวของผู้บริโภคชาวจีนเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในท้องตลาด แต่หากมองในด้าน “แบรนด์” ของเครื่องดื่มชามะนาวที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดจีน พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์เครื่องดื่มชามะนาวรายใดรายหนึ่งที่แข็งแกร่งและสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างชัดเจน ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อเครื่องดื่มชามะนาว ส่วนใหญ่ก็เพราะพวกเขาต้องการดื่มสินค้าประเภทนี้ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือคำนึงถึง “แบรนด์” ของเครื่องดื่มชามะนาวเป็นหลัก

จากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น แสดงเห็นได้ว่า ตลาดชามะนาวของจีนยังมีขนาดใหญ่และมีโอกาสในการพัฒนาเติบโตมากขึ้นในอนาคต  ประกอบกับชาวจีนสมัยใหม่ได้ยกระดับแนวคิดในการบริโภคอาหาร ซึ่งพวกเขาจะใส่ใจ/ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องปริมาณน้ำตาลที่ผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม โดยพยายามหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ไขมันทรานส์ และส่วนผสมอื่นๆ ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการต่างชาติควรตระหนักเกี่ยวกับแนวคิด/เทรนด์การบริโภคเช่นนี้ เพื่อนำไปประกอบการปรับปรุง/พัฒนาสินค้าของตนให้เหมาะสม สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนและแข่งขันในตลาดจีนได้

————————————————–

https://ent.cnr.cn/canyin/zixun/20221014/t20221014_526035205.shtml

https://mp.weixin.qq.com/s/–Y3MyFAPzHnwjbUBCYTJA

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login