สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเคนยาได้สรุปและลงนามใน ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกันหรือComprehensive Economic Partnership Agreements (CEPAs) กับ เคนยา ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออก เป็นหนึ่งในประเทศในแอฟริกากลุ่มแรกๆ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีในปี 2565 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการกระจายเศรษฐกิจในรูปแบบของการทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Non-Oil) ของ UAE
การค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันระหว่างรัฐอ่าวเปอร์เซียและเคนยามีมูลค่าถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 จากปี 2565 ดังที่นาย อัล เซยูดี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้กล่าวในโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X
ซึ่งทาง UAE ได้มองหาการขยายเศรษฐกิจออกไปเพื่อให้ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตอาหาร การทำเหมืองแร่ ด้านเทคโนโลยีต่างๆ และการขนส่ง ส่วนทางด้านเคนยาก็ได้ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของประเทศเคนยาเข้าถึงตลาดสำคัญๆ ในเอชียและตะวันออกกลางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลการลงทุนที่จะเข้ามาเพื่อพัฒนาให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต
สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ได้ทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน Comprehensive Economic Partnership Agreements (CEPAs) กับอีกหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย และ อินโดนีเซีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงคู่ค้าที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันนักในอดีตที่ผ่านมา อย่าง อิสราเอล และ ตุรกี ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคแอฟริกานอกเหนือจากเคนยาแล้ว ยังได้มีข้อตกลง CEPAs กับประเทศมอริเชียส และสาธารณรัฐคองโก (DRC) เมื่อปี 2566 ทั้งนี้ แม้ข้อตกลงดังกล่าว อาจไม่มีขนาดหรือมูลค่าของสิทธิประโยชน์ด้านการค้าเทียบเท่ากับการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การค้าระหว่างสองฝ่ายเกิดมูลค่าขยายตัวมากยิ่งขึ้นได้
ความเห็นของ สคต.
การที่ UAE ให้ความสำคัญที่จะขยายการค้าและการลงทุนโดยใช้การจัดทำข้อตกลง Comprehensive Economic Partnership Agreements (CEPAs) กับหลายประเทศในแอฟริกาและเอเชียนั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญทางการค้าและการลงทุนของแอฟริกาที่จะมีมากยิ่งขึ้นในตลาดตะวันออกกลาง โดยสำหรับเคนยานั้น การค้าในหลายด้านมีการพึ่งพาตลาด UAE เป็นอย่างมาก โดยสินค้าที่มีการส่งออกไป UAE ที่สำคัญได้แก่ กาแฟ ชา อโวคาโด ผัก และ สิ่งทอ
สำหรับประเทศไทยนั้น เราไม่ควรมองข้ามการที่เคนยาหรือประเทศในแอฟริกาเข้ามาทำการค้ากับ UAE มากขึ้น กล่าวคือ สินค้าที่ไทยเคยมีตลาดใน UAE ในอนาคตอาจถูกแทนที่ด้วยสินค้าราคาถูกจากแอฟริกาก็เป็นได้ และขณะเดียวกัน หาก UAE ที่เข้ามาลงทุนในหลายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในแอฟริกา อาจทำให้การขยายตลาดการส่งออกไทยในตะวันออกกลางมีการแข่งขันจากผู้ผลิตในแอฟริกาได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาล UAE ได้เข้ามาลงทุนในการบริหารท่าเรือหลายแห่งในแอฟริกา ทำให้เห็นได้ชัดว่า UAE หวังว่าที่จะมีโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในแอฟริกา และอาจใช้แอฟริกาเป็นฐานการผลิตในสินค้าบางชนิดเพื่อป้อนตลาดตะวันออกกลางได้ในอนาคต อาทิ เช่น ผักผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป สิ่งทอ เป็นต้น นอกจากนั้น การที่ UAE เข้ามีบทบาทมากขึ้นในภาคโลจิสติกส์ในแอฟริกาก็อาจส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าในแอฟริกาลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคต ซึ่งอาจทำให้ไทยอาจต้องมองตลาดแอฟริกาเป็นตลาดที่ไทยเข้ามาลงทุนมากขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ไทยควรเร่งรัดการเจรจาการค้ากับประเทศในแอฟริกาให้เร็วมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าใดๆกับแอฟริกาเลย ทำให้การเข้ามาแข่งขันของไทยในตลาดดังกล่าว ประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ โดยการจัดทำข้อตกลงการค้าที่มีข้อจำกัดหรือมูลค่าน้อยเช่น การจัดทำ Comprehensive Economic Partnership Agreements (CEPAs) อาจเป็นแนวทางหนึ่งนอกจากการจัดทำ FTA ที่อาจใช้เวลามากกว่า เป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจและซับซ้อนน้อยกว่า เป็นการเริ่มเปิดประตูการค้าในแอฟริกาให้สะดวกมากขึ้นก็เป็นได้
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : The EastAfrican
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เคนยาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน