หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เขตปลอดอากรของชิลี

เขตปลอดอากรของชิลี

  1. เขตปลอดอากร (Free Zones)

เขตปลอดอากร หรือ Free Zones (FZ) หรืออาจเรียกว่าเขตเศรษฐกิจเสรี (Free Economic zones: FEZ)  หรือเขตการค้าเสรี (Free Trade Zones: FTZ) เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แบ่งด้วยอาณาเขตของประเทศ ที่มีสินทรัพย์สำหรับกิจกรรมทางอุตสาหกรรมและการค้า ภายใต้การได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีและกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ โดยการจัดทำเขตปลอดอากรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้า และพิธีการด้านศุลกากร ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้ามีราคาถูกลง และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศคู่สัญญาภายใต้ความตกลงฯ ทั้งนี้ การจัดทำพื้นที่เขตปลอดอากรช่วยส่งเสริมและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่นอกเขตเมืองหลวง และเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางการค้า

ผู้ประกอบการที่จัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ FTZ จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ (corporate income tax) ภาษีมูลค่าเพิ่มของการขายครั้งแรก ภาษีศุลกากรในช่วงที่สินค้ายังคงอยู่ใน FTZ

สินค้าที่ผลิตและ/หรือเก็บรักษาในพื้นที่ FTZ สามารถส่งสินค้านั้นกลับออกไปต่างประเทศ (re-export) หรือส่งออกไปยังพื้นที่ปลอดอากรอื่นโดยไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ สินค้าดังกล่าวสามารถใช้สำหรับการบริโภคในประเทศชิลี โดยสินค้าที่บางประเภทจะถูกเรียกเก็บอากรพิเศษ เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย แอลกอฮอล์ ยาสูบ นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตและ/หรือเก็บรักษาในพื้นที่ FTZ สามารถจัดจำหน่ายในพื้นที่ที่กำหนด เรียกว่า “Extension Zones” ซึ่งจะมีที่ตั้งในเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ FTZ โดยสินค้าดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีต่าง ๆ และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังคงต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0.44 (คำนวณจากมูลค่า CIF)

ชิลีมีพื้นที่  FTZ  2 แห่ง ได้แก่ (1) พื้นที่ในเมืองท่าทางตอนเหนือของชิลีในเมือง Iquique (แคว้น Tarapacá) หรือเรียกว่า “Iquique Free Economic Zone” (ZOFRI) และ (2) พื้นที่ทางตอนใต้สุดของชิลีในเมือง Punta Arenas (แคว้น Magallanes) หรือเรียกว่า “Punta Arenas Free Economic Zone” (ZOFPA)[1]

การผลิตสินค้าภายในประเทศของชิลีในพื้นที่ FTZ สามารถใช้วัตถุดิบในการผลิตทั้งที่ได้จากในประเทศ และต่างประเทศ โดยเป็นไปตามระเบียบมาตรา 10 ของกฎหมาย DFL Nº 2/2001 ที่กำหนดให้มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมีสัดส่วนไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ สินค้าที่ผลิตในพื้นที่ดังกล่าว เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  เสื้อผ้า เครื่องสำอาง  อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นจุดหหมายปลายทางหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการซื้อหาสินค้าที่ผลิตจากแหล่งผลิตสินค้าโดยตรง

1.1. Iquique Free Economic Zone (ZOFRI)

พื้นที่ ZOFRI จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ FTZ ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในชิลี ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีการบริหารจัดการอย่างจริงจังในปี 2533 โดยภาคเอกชนในนาม “Iquique Free Zone Inc.,” (Zofri S.A.) ที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปี 2573 ซึ่งพื้นที่ ZOFRI ในปัจจุบันเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าและการบริการ และเป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน           และการขยายตัวทางเศรษฐกิจครอบคลุมพื้นที่ของแคว้น Arica-Parinacota และ Tarapacá ทั้งนี้ ZOFRI ยังเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีบริษัทต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่จำนวนกว่า 3,000 บริษัท โดยบริษัทดังกล่าวได้รับประโยชน์จากบริการที่หลากหลายในพื้นที่ ZOFRI เช่น คลังสินค้า พิธีการศุลกากร สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น

 

1.1.1 โครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ ZOFRI

ศูนย์บริการโลจิสติกส์ ZOFRI

  • ออกแบบเพื่อรองรับการจัดเก็บสินค้า (พื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร)
  • ที่จอดรถยนต์
  • พื้นที่ด้านนอกในการจัดเก็บยานพาหนะ หรืออุปกรณ์/เครื่องมือหนัก (พื้นที่กว่า 33,200 ตารางเมตร)​​​

ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้าส่ง Iquique

ประกอบด้วยอาคารคลังสินค้า พื้นที่จัดแสดงสินค้า พื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนย้ายสินค้า

  • ​อาคารสำนักงานและคลังสินค้า: เป็นพื้นที่สำหรับการค้าส่ง สถานที่ตั้งใกล้กับท่าเรือ มีบริษัทต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่จำนวนกว่า 500 บริษัท โดยบริษัทส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงขนส่งสินค้าจากภูมิภาคอื่น ๆ ไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น โบลิเวีย เปรู ปารากวัย อาร์เจนตินา บราซิล เอกวาดอร์ เป็นต้น
  • ​​พื้นที่เปิดในเขตอุตสาหกรรมใกล้เคียง: เป็นพื้นที่สำหรับการค้า (ค้าส่งและค้าปลีก) และการดำเนินกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เช่น การผลิต การจัดเก็บสินค้า และการจัดจำหน่าย

ห้าง ZOFRI

เป็นอาคารจัดแสดงสินค้า จัดจำหน่ายสินค้าปลีก

​​ZOFRIpart

เป็นพื้นที่การค้าสำหรับโชว์รูมรถยนต์ จำนวน 40 โชว์รูม และพื้นที่ให้บริการการขายสินค้าอะไหล่ อุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ตั้งสำนักงาน สถานที่จัดแสดงสินค้า และสถานที่จัดเก็บสินค้า

Chacalluta Industrial Park – Arica

ตั้งอยู่ในเมือง Arica มีพื้นที่ประมาณ 1,300,000 ตารางเมตร โดยวัตถุประสงค์หลักของการใช้พื้นที่นี้ เพื่อการพัฒนากิจกรรมทางอุตสาหกรรม และพื้นที่ดังกล่าวยังมีอาณาเขตใกล้กับประเทศโบลิเวียและเปรู

Alto Auspicio Industrial Park

บริษัท ZOFRI S.A. มีพื้นที่ประมาณ 1,287,000 ตารางเมตร ใน Alto Auspicio สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ  เช่น เขตอุตสาหกรรมปลอดภาษี และโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ มีการจัดตั้งสถาบันการเงินต่าง ๆ ในพื้นที่ ZOFRI รวมถึง ธุรกิจด้านการสื่อสาร ตัวแทนจัดส่งสินค้า การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ศูนย์การประชุม

กิจกรรมทางการค้าภายในพื้นที่ ZOFRI มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 (ค.ศ. 2021) โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา กิจกรรมเกี่ยวกับการจัดซื้อมีมูลค่ารวมประมาณ 4,401 ล้านเหรียญสหรัฐ และกิจกรรมเกี่ยวกับการขายมีมูลค่ารวมประมาณ 4,623 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2565 พื้นที่ FTZ ในส่วนต่อขยาย (FZ Extension Zone ) ที่อยู่ในแคว้นเหนือสุดของชิลี (แคว้น Arica-Parinacota) ติดต่อกับแคว้น Tarapacá มีรายได้จากกิจกรรมการค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของกิจกรรมการค้าในในพื้นที่  ZOFRI หรือคิดเป็นมูลค่า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่า CIF) ร้อยละ 30 เป็นกิจกรรมจากค้าจากต่างประเทศ และร้อยละ 5 เป็นกิจกรรมการค้า ภายในประเทศชิลี

การส่งออกสินค้าจากพื้นที่  FTZ ไปยังประเทศโบลิเวียมีมูลค่าสูงที่สุด ในปี 2565 โดยมีมูลค่า 675 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากพื้นที่ FTZ รองลงไปคือ ประเทศปารากวัย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 เปรู คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 รองลงไปคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.9 และเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.3 ตามลำดับ

การนำเข้าจากประเทศถิ่นกำเนิดเข้ามายังพื้นที่ FTZ ในปี 2565 สูงที่สุด ได้แก่ การนำเข้าจากประเทศจีน มีมูลค่า 1,988 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของการนำเข้ามายังพื้นที่ FTZ ทั้งหมด รองลงไปคือ สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ชิลี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าที่นำเข้าสูงที่สุด ได้แก่ เชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 รองลงไปคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8  เครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.4 และรถยนต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 ตามลำดับ[1]

1.2.- Zona Franca de Punta Arenas (ZOFPA)

พื้นที่ ZOFPA จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 พื้นที่ ZOFPA เริ่มมีการบริหารจัดการอย่างจริงจังในปี 2550 โดยภาคเอกชนในนาม บริษัท Sociedad de Rentas Inmobiliarias Ltda. (SRI) ที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปี 2573 การจัดพื้นที่ปลอดอากร ZOFPA ส่งผลดีทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปยังพื้นที่และแคว้นใกล้เคียง เช่น แคว้น Magallanes ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของชิลี ครอบคุลมพื้นที่ขั้วโลกใต้ฝั่งประเทศชิลี และแคว้น Aysén โดยภาคธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ZOFPA ยังส่งผลดีต่อพื้นที่ทางตอนใต้สุดของภูมิภาคลาตินอเมริกา คือ Patagonia ที่ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่ทางตอนใต้สุดของชิลีและอาร์เจนตินา โดยภาคธุรกิจสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เช่น การนำเข้าและส่งออกสินค้า การแปรรูปสินค้า การบรรจุภัณฑ์ การจัดนิทรรศการ เป็นต้น รัฐบาลชิลีได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของท่าเรือ และการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทางบก เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 9.6 ล้านคนต่อปี ที่เข้าไปท่องเที่ยวในเขต Patagonia

1.2.a. โครงสร้าง ZOFPA

  • พื้นที่รวม 530,000 ตารางเมตร
  • คลังสินค้า จำนวนกว่า 80 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150,000 ตารางเมตร
  • ศูนย์การค้าที่มีร้านค้ากว่า 100 ร้าน และแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร
  • สถานที่จอดรถ ที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร
  • คลังสินค้าแช่แข็ง ที่มีปริมาณความจุ 1,800 ตัน
  • พื้นที่ว่างเปล่าสำหรับการก่อสร้าง ประมาณ 34,800 ตารางเมตร

1.2.b. การนำเข้าและการส่งออก

การค้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ZOFPA มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ประเทศปลายทางสำคัญของการส่งออกสินค้าจากพื้นที่ ZOFPA เช่น จีน สหรัฐอเมริกา  แคนาดา และเยอรมนี เป็นต้น โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานทดแทน อุปกรณ์และเครื่องมือด้านโลจิสติกส์  สินค้าอุปโภคและบริโภค[2]

2. โอกาสทางการค้า

          การจัดทำพื้นที่ปลอดอากรของชิลี ทั้ง 2 แห่ง “Iquique Free Economic Zone” (ZOFRI) และ “Punta Arenas Free Economic Zone” (ZOFPA) เป็นกิจกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาชิลีได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติ โดยการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ผ่านการจัดตั้งธุรกิจและการทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งชิลีเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก

แม้ว่าไทยและชิลีมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Thailand – Chile FTA) แต่การลงทุนจากนักลงทุนของทั้งชิลีและไทยไปยังประเทศคู่ภาคียังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก การจัดทำเขตปลอดอากรของชิลี จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยดึงดูดการลงทุนจากประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ชิลียังต้องการการพัฒนา เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว และสามารถใช้วัตถุจากประเทศชิลีในการผลิต เพื่อส่งออกไปยังตลาดของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา หรืออีกนัยหนึ่งคือการใช้ชิลีเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ไทยต้องการขยายตลาดเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์จากพื้นที่ปลอดอากรของชิลี

การส่งเสริมการลงทุน – รัฐบาลให้การสนับสนุน ด้านเงินโบนัสแก่ลูกจ้างในเขตปลอดอากร ในอัตราร้อยละ 17 ของเงินเดือน หรือไม่เกินจำนวน 182,000 เปโซชิลี จนถึงปี 2568

 

– บริษัทที่จัดตั้งในชิลีและดำเนินการในเขตปลอดอากร มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลและภาษีศุลกากร ร้อยละ 100

– ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ การดำเนินการกระบวนการผลิตทั้งหมด  และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

– สามารถต่อรองระยะเวลาในการส่งคืนแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลยินยอม

สิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ – มีพื้นที่รองรับการจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่

 

– มีขั้นตอนในการเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่ยุ่งยากหรือซ้ำซ้อน

– มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมและแผนพัฒนาระยะยาว

– นักลงทุนค่อนข้างมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของประเทศ

ข้อมูลด้านกายภาพ/ภูมิศาสตร์ ZOFPA ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อไปยังทวีปแอนตาร์กติกา

 

ZOFRI สามารถเชื่อมต่อขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล เช่น โบลิเวีย และปารากวัย

นโยบายในการพัฒนาประเทศ ชิลีมีทัศนคติในการพัฒนาประเทศที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคลาตินอเมริกา
ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน อาทิ การจัดเก็บสินค้า การบริหารงานที่เกี่ยวกับคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง รวมถึงการจ้างงานมีต้นทุนค่อนข้างสูง
ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน – มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ณ ท่าเรือที่มีประสิทธิภาพ มีการทำงานที่เป็นระบบ และมีการนำเครื่องมือ/อุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ปฏิบัติงาน
การเข้าถึงตลาดอื่น ๆ ชิลีมีการจัดทำ FTA หลายฉบับ กับประเทศที่ไทยยังไม่มีการจัดทำความตกลง FTA ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ชิลีในการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

___________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม 2566

[1] Iquique Free Trade Zone – https://www.zofri.cl/es-cl/Financiera/Estadisticas/boletin-diciembre.pdf

[2] Punta Arenas Free trade Zone – www.zonautral.cl

World Free Zones Organization – https://www.worldfzo.org/Portals/0/OpenContent/Files/487/Chile_FreeZones.pdf

[1] https://www.hgomezgroup.com/chile/international-law-overview-free-trade-zones-in-chile/

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login