หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีเร่งสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานกับอาเซียน

เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีเร่งสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานกับอาเซียน

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อสร้างเขตทดลองการค้าจีน (กวางสี) เขตฯ กว่างซีจ้วง มีความพยายามสนับสนุนและพัฒนาการให้บริการกับบริษัทดำเนินธุรกิจการค้าต่างประเทศที่จัดตั้งในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ตัวเลข ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ปริมาณการนําเข้าและส่งออกของเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) สะสม 858,000 ล้านหยวน และการใช้เงินทุนต่างประเทศในความจริงคือ 1,476 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) กำลังเร่งสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดน เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ รถ EV วัสดุเคมีใหม่ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการแปรรูปสมุนไพร เพื่อสร้างพื้นที่หลักสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ติดกับท่าเรือและชายแดนของจีน

เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วยพื้นที่ย่อยใน 3 เมือง ได้แก่ เมืองหนานหนิง เมืองชินโจว และเมืองฉงจั่ว พื้นที่รวม 119.99 ตารางกิโลเมตร ใน 4 ปีที่ผ่านมา เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ให้ความสำคัญในการพัฒนาการค้า การลงทุน การชำระเงินข้ามพรมแดน การขนส่ง การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงมีการนวัตกรรมกลไกการดำเนินงานด้วย เช่น การปฏิรูปแบบบูรณาการของรูปแบบ “การค้าระหว่างชาวชายแดน + การแปรรูปสินค้าในพื้นที่” ที่นับเป็นรูปแบบครั้งแรกของประเทศจีน และสร้างรูปแบบ “ธนาคาร + ศูนย์บริการ” สําหรับการใช้เงินหยวนข้ามพรมแดนในพื้นที่ชายแดน

ขณะเดียวกัน เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ยังนำนวัตกรรมการสร้างโมเดลบริหารสำหรับแพลตฟอร์มการทำงานอัจฉริยะในการเชื่อมโยงพื้นที่ 3 แห่ง “อาเซียน+ฮ่องกง+หนานหนิง” เพื่อสำรวจการนวัตกรรมในการปฏิรูปต่างๆ เช่น การปฏิรูประบบการขนส่งต่อเนื่องระหว่างทางรถไฟกับทางทะเลของ “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” และการปฏิรูปการให้กู้ยืมเงินตามสิทธิรายได้ที่กำหนดของแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) และส่งเสริมการหมุนเวียนขององค์ประกอบด้านทรัพยากร

เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ยังออกนโยบายสนับสนุนเสริมสร้างพลังงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ขยายการเปิดสู่ภายนอกของอุตสาหกรรมและยกระดับความได้เปรียบของความสามารถการแข่งขัน ส่งเสริมให้จัดตั้งพันธมิตรเขตทดลองการค้าเสรีระหว่างมณฑลกวางตุ้ง –    ไห่หนาน – เขตฯ กว่างซีจ้วง เสริมสร้างการเชื่อมโยงเขตทดลองการค้าเสรีที่ชายแดนกับมณฑลยูน-หนานและมณฑลเฮยหลงเจียง กระชับความร่วมมืออุตสาหกรรมในด้านแรงงานข้ามพรมแดน การกำกับดูแลจากศุลกากร และการขนส่ง ฯลฯ

ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยเมืองฉงจั่ว ได้ใช้ความได้เปรียบทำเลที่ตั้งที่ติดกับประเทศเวียดนามเพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และการแปรรูปสินค้าดีเด่นของกลุ่มประเทศอาเซียนในเชิงลึก นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวข้ามพรมแดนได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยด่านโหย่วอี้กวนได้ตรวจปล่อยทัวร์ข้ามพรมแดนมากกว่า 3,600 กลุ่ม บริการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนจีน – เวียดนามด้วยตนเองและเส้นทางขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศฮานอย – หนานหนิงได้ฟื้นฟูดําเนินการสู่ปกติ

ต่อไป เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) จะเสริมสร้างผลประโยชน์จากนโยบายมากขึ้น เร่งรวมตัวของทรัพยากรที่มีความได้เปรียบและส่งเสริมการก่อสร้างโครงการสําคัญ เช่น ศูนย์เศรษฐกิจและการค้าจีน – อาเซียน แพลตฟอร์มการค้าสินค้าโภคภัณฑ์จีน – อาเซียน ศูนย์แสดงสินค้าดีเด่นจีน – อาเซียน และสวนสาธิตความร่วมมือทางอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน

ความเห็นสคต. ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ความสำคัญในการพัฒนาเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีน-อาเซียน โดยเฉพาะเน้นพื้นที่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) เป็นหลัก รวมถึงพื้นที่ในเมืองอื่นที่ติดกับชายแดนและทะเล เพื่อยกระดับการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานกับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งอุตสาหกรรมที่เน้นพัฒนาคือ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ วัสดุเคมีใหม่ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการแปรรูปสมุนไพร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง เพิ่งได้ประกาศดำเนินการ โครงการศูนย์ค้าขายผลไม้อาเซียนใน 3 พื้นที่ คือ เมืองหนานหนิง เมืองชินโจว และเมืองผิงเสียงอย่างเป็นทางการ คาดการณ์ว่าโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการประกาศและดำเนินการในรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ จะเป็นข่าวดีสำหรับในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในการยกระดับความร่วมมือพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างจีนกับไทย โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรไทย การขนส่งโลจิสติกส์ สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

http://www.gx.chinanews.com.cn/top/2023-09-01/detail-ihcssawx3962365.shtml

http://nnwb.nnnews.net:8080/nnwb/20230901/html/page_02_content_000.htm

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login