ยางพาราธรรมชาติมีวงจรการเติบโตระยะยาว จากการเพาะปลูกถึงให้ผลผลิตต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอุปทานมักจะล่าช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
เมื่อ 10 ปีก่อน ตลาดยางพาราของจีนเคยเป็น Bull Market อุปสงค์ในตลาดจีนในขณะนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุปทานมีไม่เพียงพอ ต่อมาได้เริ่มมีการพัฒนาผลผลิตยางพาราจำนวนมากขึ้น อุปสงค์และอุปทานและอุปสงค์เริ่มมีความสมดุล โดยนอกจากประเทศจีนแล้ว ยังไม่พบความต้องการยางพาราธรรมชาติขนาดใหญ่ในตลาดอื่นๆทั่วโลก อุปสงค์และอุปทานเกิดความไม่สมดุลอีกครั้ง ราคาของยางพาราธรรมชาติค่อยๆ เข้าสู่ตลาด Bear Market ทำให้อัตราการเติบโตของการผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมาก และจนถึงกระทั่งติดลบ อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ก็อ่อนตัวลงเช่นกัน การกระจายสต็อกยางพาราธรรมชาติทั่วโลกไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ราคายางพาราจึงยังไม่สามารถดีดตัวกลับสูงขึ้นดังเดิมได้
ปริมาณการใช้ยางพาราธรรมชาติปลายน้ำร้อยละ 70 กระจุกตัวอยู่ที่ยางล้อรถยนต์ โดยยางล้อแบบ Semi steel tire ที่ใช้สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล 1 เส้น จะใช้ยางพาราธรรมชาติ 1-1.5 กิโลกรัม และยางล้อแบบ All steel tire ที่ใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ 1 เส้น จะใช้ยางพาราธรรมชาติประมาณ 30 กิโลกรัม ในการนี้ จะเห็นว่าตลาดยางล้อ All steel tire จะมีผลต่อการบริโภคยางพาราธรรมชาติ ถึงแม้ปัจจุบันรถยนต์พลังงานใหม่ได้กระตุ้นยอดขายรถยนต์ภาพรวมให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยยะต่อความต้องการยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากนัก นอกจากนี้ รถยนต์พลังงานใหม่ยังแชร์ตลาดเดียวกันกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยจะเห็นว่ายอดขายรถยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่ยอดขายรถยนต์ใช้น้ำมันกลับลดลง
วิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราจีน
ในปี 2566 อุปสงค์และอุปทานยางพาราธรรมชาติทั่วโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว สต็อกยางไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก และตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้ามีอัตราการเติบโตคงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหญ่ เช่น ยุโรปที่ต้องประคองเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตพลังงาน และเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหรัฐอเมริกา จึงคาดว่าอุปสงค์ยางพาราทั่วโลกจึงยังคงมีความเสี่ยงเติบโตติดลบจากปี 2566
ในด้านอุปทานยางพาราโลก พื้นที่ใหม่ในแอฟริกายังคงมีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และการผลิตยางในภูมิภาคเอเชียกว่าร้อยละ 60 เป็นต้นยางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงมีศักยภาพในการผลิตปริมาณมาก นอกจากนี้ ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่ปกติ ผลผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกไม่เพียงจะไม่ลดลงแต่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราจีนยังคงประสบปัญหาหลายประการ อาทิ 1) อุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่แต่ไม่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตส่วนเกิน 2) อัตราการใช้ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของโลก 3) พื้นที่เพาะปลูกยางพาราบางส่วนมีกำลังการผลิตขนาดเล็ก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ระดับล่างมีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ส่วนผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ยังคงพึ่งพาการนำเข้า เช่น ยางไอโซพรีน ยางบิวทิลโบรไมด์ และ ยางไนไตรล์ไฮโดรเจน ฯลฯ
การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราจีนในอนาคตมีทิศทาง 3 ประการ
1) สถานการณ์กำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจบีบให้อุตสาหกรรม ฯ พัฒนาไปในรูปแบบการบูรณาการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และการยกระดับคุณภาพของการผลิตยางให้มีคุณภาพสูงขึ้น
2) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางปลายน้ำและผลิตภัณฑ์ยางทั่วไป จะปรับเปลี่ยนไปสู่ความต้องการวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพสูง
3) ภายใต้สถานการณ์การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจีนจะเร่งสำรวจตลาดต่างประเทศ เพื่อแสวงหาการส่งออก และเพิ่มอัตราการบริโภคในจีนอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ปริมาณการผลิตยางพาราทั่วโลกและของจีน
ตามรายงานของหน่วยงาน Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ทั่วโลกมีปริมาณการผลิตยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และคาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคม ปี 2566 ปริมาณการผลิตยางพาราธรรมชาติจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ด้านปริมาณการบริโภคยางพาราธรรมชาติลดลงร้อยละ 3.2
ในปี 2566 อัตราการเติบโตปริมาณการผลิตยางพาราธรรมชาติของประเทศต่าง ๆ โดยประเทศที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ +17.4 ไอวอรี่โคสต์เพิ่มขึ้นร้อยละ +16.5 เวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ +4.1 อินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ +3.8 ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ +2.5 และประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ +5.0 ส่วนประเทศที่ลดลง ได้แก่ มาเลเซียลดลงร้อยละ -9.8 และจีนลดลงร้อยละ -3.1
ในปี 2566 ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติทั่วโลกลดลงร้อยละ -0.5 ในที่นี้ประเทศที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ +16.2 อินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ +5.0 จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ +3.8 อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ +3.0 เวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ +0.2 ประเทศที่ลดลง ได้แก่ มาเลเซียลดลงร้อยละ -22.3 สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ -9.9 ยุโรปลดลงร้อยละ -6.4 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ -1.5 และประเทศอื่นๆ ลดลงเฉลี่ยร้อยละ -18.2
ปริมาณการผลิตยางพาราของจีนตั้งแต่ปี 2561 – 2565
ที่มา : www.chinairn.com
สำหรับปริมาณการผลิตยางพาราของจีนพบว่ามีความผันผวน โดยในปี 2561 จีนผลิตยางพาราได้ 824,093 ตัน และลดลงเป็น 809,859 ตันในปีถัดมา และขยับเพิ่มขึ้นในปีถัดมา และในปี 2565 พบว่ามีปริมาณการผลิตยางพาราลดลงจากปีก่อนเป็น 861,675 ตัน
ด้านปริมาณการนำเข้ายางพาราธรรมชาติของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายางผสมในการค้าเก็งกำไร นอกจากนี้ การส่งออกยางล้อรถยนต์ของจีนที่มีแนวโน้มที่ดี ยังช่วยดันการนำเข้ายางมาตรฐานให้สดใสด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับการนำเข้าคาร์บอนแบล็คที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากราคาคาร์บอนแบล็คในจีนยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และถ่านหิน เป็นต้น ทำให้แหล่งนำเข้าต้นทุนต่ำจากต่างประเทศมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีน
การส่งออกยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีอุปทานส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายบริษัทเปิดตลาดส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันในการขายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาง SBR และยางบิวทิล ที่มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ภาพรวมการส่งออกยางล้อเพิ่มขึ้นทุกปี และจะมีแนวโน้มดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้ายางพาราที่สำคัญอันดับหนึ่งของจีน โดยในปี 2566 จีนมีการนำเข้ายางพาราธรรมชาติ (HS Code 4001) ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ +3.65 (YoY) แต่มีมูลค่าลดลง -11.28 (YoY) โดยมีปริมาณการนำเข้ายางพาราธรรมชาติจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 39.15 รองลงมา ได้แก่ โกตดิวัวร์ มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งมณฑล/เมืองที่มีปริมาณการนำเข้ายางพาราธรรมชาติจากไทยมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.49 รองลงมาได้แก่ เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ เหลียวหนิง และฝูเจี้ยน ขณะที่จีนมีการนำเข้ายางสังเคราะห์ (Hs Code 4002) ในปี 2566 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ +10.48 แต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ -9.2 ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ายางสังเคราะห์จากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.08 รองลงมาได้แก่ เวียดนาม รัสเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งมณฑล/เมืองที่มีปริมาณการนำเข้ายางสังเคราะห์จากไทยมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง เจ้อเจียง หูหนาน เจียงซู และเซี่ยงไฮ้ แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงมีความต้องการในการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกยางล้อรถยนต์ไปต่างประเทศของจีน และการซื้อรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ ทิศทางของธุรกิจจีนที่มุ่งขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ และความต้องการยางล้อราคาถูกในตลาดโลก จึงทำให้จีนยังคงมีความต้องการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมีความผันผวนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ยางพารา และกำลังการผลิตยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ที่ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนในการรับมือได้อย่างทันท่วงที
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เกาะติดอุตสาหกรรมยางพาราจีน