ธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2567-2569 (Bollettino Economico) ฉบับที่ 2/2567 ประจำเดือนเมษายน โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเติบโต 0.6% ในปี 2567 1.0% ในปี 2568 และ 1.2% ในปี 2569 โดยแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากการฟื้นตัวของรายได้ที่แท้จริงและอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศ โดยปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในอิตาลี คาดว่าจะลดลงเหลือ 1.3% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7% ในปี 2568 และปี 2569 นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านการค้าในอิตาลี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งยังคงถูกกดดันจากการลดลงของภาคการผลิต เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของภาคการบริการในประเทศ ความซบเซาของการบริโภคในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ภายหลังจากการลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงสิ้นปี 2566 รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการจัดหาเงินทุนด้วยตนเอง แต่การลงทุนจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูง รวมถึงในภาคการก่อสร้างโดยการลดแรงจูงใจสําหรับการปรับปรุงบ้านใหม่ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะถูกชดเชยเพียงบางส่วนของมาตรการการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศของอิตาลี (Il Piano Nazionale di Ripresa e Resilienza – PNRR) เท่านั้น การจ้างงานจะเติบโต อัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงอย่างช้าๆ ถึง 7.4% ในปี 2569
ธนาคารแห่งชาติอิตาลียังได้เผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มประเทศยูโรโซน (Eurozone) โดยในช่วงต้นปี 2567 GDP ของกลุ่มยูโรโซน ยังคงซบเซาเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ ในขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการบริการกําลังฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับสินค้าอุตสาหกรรมและอาหารที่ไม่ใช่พลังงาน ตามการคาดการณ์ของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) (ในเดือนมีนาคม 2567) ปี 2567 อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซน จะลดลงเหลือ 2.3%
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) ได้คาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2567 และปี 2568 จะขยายตัวอยู่ที่ 1.0% และ 1.1% ตามลำดับ ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 2 ของปี 2567 ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2567 และขยายตัวอยู่ที่ 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยสำนักงานวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (Eurostat) ได้ให้ข้อมูลว่า GDP ไตรมาส 2 ของปี 2567 ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ขยายตัวอยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 0.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอิตาลีมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับ GDP ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) เดือนกรกฎาคม 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น (+0.5% จาก -0.2% ของเดือนมิถุนายน 2567) โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าด้านพลังงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น (+3.6% จาก -0.7% ของเดือนมิถุนายน 2567) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (+5.9%) (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ +2.3%) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (+3.4%) (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.9%) ในขณะที่ หากเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.3% (เดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 0.8%) ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น (-0.1% จาก -0.7% ของเดือนมิถุนายน 2567) โดยเฉพาะราคาสินค้าด้านพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น (-4.0% จาก -8.6% ของเดือนมิถุนายน 2567) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (+11.7% จาก +3.5% ของเดือนมิถุนายน 2567) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (-6.0% จาก -10.3% ของเดือนมิถุนายน 2567)
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติอิตาลี แสดงให้เห็นว่า ในช่วงต้นปี 2567 สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อย ๆ กลับมาแนวโน้มที่สดใสอีกครั้ง เห็นได้จากความต้องการบริโภคในสหรัฐอเมริกาเติบโตเกินความคาดหมาย (ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของอิตาลี) ในทางกลับกันความต้องการในจีนยังคงอ่อนแอ (ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 11 ของอิตาลี) อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า ปี 2567 GDP ทั่วโลก จะยังคงเติบโตประมาณ 3% ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะมีผลกระทบที่จํากัดในการค้าระหว่างประเทศ
2. ปี 2567 การค้าระหว่างประเทศอิตาลีจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% โดยตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งชาติอิตาลี ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2567 อิตาลีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 280,102.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 16.31% โดยส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวลดลงของแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เยอรมนี มูลค่า 39,199.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-22.65%) อันดับ 2 จีน มูลค่า 25,561.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-2.93%) อันดับ 3 ฝรั่งเศส มูลค่า 21,280.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-18.83%) อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 16,127.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-20.73%) และอันดับ 5 สเปน มูลค่า 15,252.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.66%) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้า อันดับ 42 มูลค่า 1,169.1 ล้านหรียญสหรัฐฯ (-8.62%) ในขณะที่ อิตาลีส่งออกไปทั่วโลก มีมูลค่า 312,615.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 9.45% ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อิตาลีเกินดุล มูลค่า 32,512.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 207.58% โดยตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา มูลค่า 35,072.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.48%) อันดับ 2 เยอรมนี มูลค่า 32,899.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-22.32%) อันดับ 3 ฝรั่งเศส มูลค่า 28,786.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-19.30%) อันดับ 4 สเปน มูลค่า 15,785.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-13.77%) และอันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 15,674.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-6.58%) โดยไทยเป็นตลาดส่งออก อันดับ 54 มูลค่า 1,010.1 ล้านหรียญสหรัฐฯ (-4.74%)
3. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยที่กำลังทำการค้าและอยู่ระหว่างการตัดสินใจทำการในตลาดอิตาลี ควรต้องติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและด้านการค้าของอิตาลีอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการวางกลยุทธ์ทางการค้าให้มีความเหมาะสมกับตลาดอิตาลี และเพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจส่งผลทางด้านการค้าของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก การส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย FED ที่กระทบต่อการแข็งค่าของเงินบาท และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทย
——————————————————————-
ที่มา: 1. สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี https://www.istat.it/en/
2. https://www.confindustria.it/home/centro-studi/temi-di-ricerca/congiuntura-e-previsioni/dettaglio/congiuntura-flash-maggio-2024
3. ธนาคารแห่งชาติอิตาลี boleco-2-2024.pdf (bancaditalia.it)
4. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
5. รูปประจำเรื่อง จาก corrieri.it
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลี ครึ่งปีแรก 2567