แม้ฮ่องกงจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตสิ่งทออีกต่อไป แต่ศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของฮ่องกงนั้น พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม
ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย ฮ่องกงได้กลับคืนสู่ตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินอันดับหนึ่งของเอเชียและอันดับสามของโลกในปี 2567 อย่างไรก็ตาม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมนอกเหนือจากภาคการเงิน ฮ่องกงควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรม
อุตสาหกรรมสิ่งทอของฮ่องกงเคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 ทว่าในช่วงทศวรรษ 1980 ภายหลังจีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศ โรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจำนวนมากได้ปิดตัวลงหรือย้ายฐานการผลิตไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากค่าแรงและต้นทุนที่ดินในฮ่องกงสูงเกินกว่าจะดำเนินการผลิตสิ่งทอแบบดั้งเดิมได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ โรงงานอีกจำนวนไม่น้อยได้ย้ายฐานจากจีนไปยังบังกลาเทศและเวียดนามอันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และค่าแรงที่ต่ำกว่า
แม้จะเผชิญความท้าทายเหล่านี้ ฮ่องกงสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้อันชำนาญในอุตสาหกรรมนี้เพื่อพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนที่บริษัทแฟชั่นทั่วโลกกำลังเผชิญ ตั้งแต่ Abercrombie & Fitch ไปจนถึง Zara โดยมีองค์กรและบริษัทหลายแห่งกำลังบุกเบิกเส้นทางให้ฮ่องกงพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในด้านนี้
ประการแรก ฮ่องกงมีสถาบันวิจัยที่พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรม สถาบันวิจัยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มฮ่องกงก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเมืองและดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง สถาบันมุ่งเน้นการวิจัยประยุกต์และการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ฮ่องกงเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในวงการสิ่งทอ
สถาบันได้ร่วมมือกับมูลนิธิของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ H&M พัฒนา “เครื่องจักรสีเขียว” ซึ่งเป็นกระบวนการรีไซเคิลสิ่งทอด้วยความร้อนใต้ดินที่สามารถคัดแยก รวมไปถึงรีไซเคิลเส้นใยผ้าฝ้ายและผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ผสมกันเพื่อลดขยะในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีขนาดใหญ่ ความร่วมมือนี้เกิดเป็นการเปิดตัว “Open Lab” ซึ่งเป็นโรงงานขนาด 20,000 ตารางฟุต ตั้งอยู่ในศูนย์อุตสาหกรรมในเขต Tseung Kwan O มีเป้าหมายในการขยายขอบเขตการใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
ประการที่สอง ผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีฐานที่มั่นอยู่ในฮ่องกง กลุ่มบริษัท Esquel Group ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 เป็นผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มชั้นนำที่มีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง มีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตเสื้อเชิ้ตทอรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกสำหรับแบรนด์ระดับนานาชาติมากมาย
ประการที่สาม โรงงานที่ได้รับการปรับโฉมใหม่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ประกอบการรายใหม่ได้ โดยในปี 2561 บริษัท Nan Fung Group ได้แปลงโรงงานสิ่งทอเดิมให้กลายเป็นศูนย์การออกแบบและนวัตกรรมที่ล้ำสมัยภายใต้ชื่อ โครงการ “The Mills” โดยจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับ The Mills Fabrica ซึ่งเป็นโครงการสร้างธุรกิจและแพลตฟอร์มการลงทุนสำหรับสตาร์ทอัพด้าน “นวัตกรรมเทคและเกษตรอาหารสมัยใหม่” (techstyle และ agrifood) ที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ The Mills Fabrica ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างน้อย 20 รายตามรายงานปี 2566 โดยมีสตาร์ทอัพที่โดดเด่นสองรายคือ Unspun และ Circ
บริษัท Unspun เป็นบริษัทเทคโนโลยีแฟชั่นที่ผลิตเสื้อผ้าโดยใช้เทคโนโลยีการทอแบบ 3 มิติเพื่อรองรับการผลิตเสื้อผ้าตามความต้องการ โดยร่วมมือกับ H&M และ Walmart โดยยึดแนวทางการผลิตที่สร้างสรรค์และการใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ในการมีส่วนช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ
บริษัท Circ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีรีไซเคิลสำหรับสิ่งทอผสมผ้าโพลีคอตตอน จากการร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เช่น Zara และ Mara Hoffman บริษัท Circ มีเป้าหมายที่จะลดขยะจากสิ่งทอและส่งเสริมแฟชั่นแบบหมุนเวียน
พัฒนาการเหล่านี้เป็นการปูทางให้ฮ่องกงก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจระดับโลก ฮ่องกงพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สร้างสรรค์และการใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนยั่งยืน โดยไม่จำกัดว่าเสื้อผ้าจะถูกผลิตหรือบริโภค ณ ที่ใดในอนาคต
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
ฮ่องกงเป็นผู้นำทางด้านแฟชั่นและสิ่งทอในเอเชียเนื่องจากมีศักยภาพในการเปิดตลาดแฟชั่นไปยังนานาชาติ โดยฮ่องกงเป็น Global Trading Hub ของโลก และเป็นศูนย์กลางในการนำเข้า – ส่งออก รวมไปถึงเป็นเมืองแห่งการจัดงานแสดงสินค้าที่สามารถดึงดูดผู้ซื้อจากนานาชาติได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของฮ่องกงในปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมแฟชั่น นับเป็นการปรับตัวเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม ส่งผลให้ฮ่องกงยังคงเป็นผู้นำในด้านตลาดสิ่งทอได้อย่างยาวนาน นอกจากนี้ฮ่องกงเปิดกว้างสำหรับผลงานการออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ การจัดแสดงสินค้าแฟชั่นที่เปรียบเสมือนเวทีโลก เป็นการสร้างโอกาสของดีไซเนอร์ไทยสู่ฮ่องกง ซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของเอเชียไปสู่ตลาดจีนและตะวันตกได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูล: scmp.com/opinion/hong-kong-opinion/article/3280957/how-hong-kong-can-lead-way-sustainable-textiles?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ฮ่องกง จากผู้นำด้านสิ่งทอ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม แฟชั่นแบบยั่งยืน