หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > ฮ่องกงเน้นการบริโภคในประเทศผลักดันเศรษฐกิจ

ฮ่องกงเน้นการบริโภคในประเทศผลักดันเศรษฐกิจ

ข่าวประจำสัปดาห์ สคต. ณ เมืองฮ่องกง ระหว่าง 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะสามารถฟื้นตัวได้จากภาวะถดถอยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตกว่าร้อยละ 2.7 แต่ตัวเลขในภาคการส่งออกกลับลดลงร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวอย่างเช่น มูลค่าการส่งออกรวมในเดือนเมษายนมีจำนวน 338,000ล้านเหรียญดอลล่าร์ฮ่องกงซึ่งลดลงมาร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า

รัฐมนตรีการคลังของฮ่องกงนาย พอล ชาน (Paul Chan) ยอมรับว่าฮ่องกงยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่มีผลต่อธุรกิจในภาคการส่งออก อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐ ฯ ดังนั้นฮ่องกงจึงจำเป็นต้องอาศัยการบริโภคภายในเป็นหลักจึงได้เรียกร้องให้ชาวฮ่องกงออกมาจับจ่ายใช้สอยโดยผ่านมาตรการ Consumption Voucher ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในฮ่องกง ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลได้มีการประกาศออกมาใช้เป็นปีที่ 3 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่รัฐบาลถึง 33,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์ฮ่องกง และสามารถกระตุ้น GDP ได้ราว ๆ ร้อยละ 0.6 ของปีนี้

เมื่อดูตัวเลขทางด้านค้าปลีกในเดือนเมษายนมีการปรับตัวดีขึ้น โดยมีการเติบโตร้อยละ 15 ในเดือนเมษายน ร้อยละ 40.8 ในเดือนมีนาคม และร้อยละ 31.3 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในเดือนเมษายนมีปริมาณยอดค้าปลีกแตะที่ 34,710 ล้านเหรียญดอลล่าร์ฮ่องกง ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้จ่ายก่อนการเกิดโรคระบาดในช่วงฤดูร้อนของปี 2562

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พยายามช่วยเหลือในส่วนธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก เช่น การให้กู้เงินเพิ่มขึ้นสำหรับการจำนองบ้าน และกำลังพิจารณากลุ่มคนที่ประสงค์จะซื้อบ้านเพื่อการขยาย

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นจาก สคต.

แม้รัฐบาลฮ่องกงจะเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้นโดยผ่าน Consumption Voucher ที่กำลังจะออกมาในรอบที่สองอีกคนละ 8,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเมืองฮ่องกงก็ตาม แต่ถ้าหากบรรยากาศโดยภาพรวมของเศรษฐกิจยังไม่สดใส คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายกว่าปกติ ดังนั้น Consumption Voucher เองอาจจะมีผลช่วยเศรษฐกิจได้บ้างแต่คงเป็นเพียงระยะสั้น และคงเป็นประโยชน์แก่เฉพาะธุรกิจค้าปลีกบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ แหล่งท่องเที่ยวภายในเมืองฮ่องกง เช่น Ocean Park Disneyland เพราะคนหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวต่างประเทศแต่หันกลับมาท่องเที่ยวภายในแทน อย่างไรก็ตาม จับตาดูจากบทสัมภาษณ์ของนาย พอล ชาน ที่กล่าวว่า ฮ่องกงจะยังคงต้องพึ่งพาการใช้จ่ายภายในและการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ตรงนี้เราอาจจะได้เห็นโครงการการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลอีกระลอก

แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้จะมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน หรือมีประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงก่อนเกิดโรคระบาดก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาคราวนี้มีการจับจ่ายเกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยลดน้อยลง แต่ยังคงจับจ่ายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ยา ในส่วนท่องเที่ยวเน้นในด้านประเพณีและวัฒนธรรม

ในฐานะของผู้ประกอบการไทย ควรมีการนำสินค้าที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทย เข่น สินค้าอาหารที่มีสัญลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยวของไทยบนสินค้า และหากผู้ประกอบการท่านใดที่มีสินค้าแปลกใหม่ และประสงค์จะนำเข้ามาในตลาดฮ่องกง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง หรือสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ thaicomm@netvigator.com

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2566

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login