หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ฮังการีให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฮังการีไปสู่เป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ฮังการีให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฮังการีไปสู่เป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 นาย Péter Szijjártó รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เปิดเผย ณ การประชุม Bled Strategic Forum ครั้งที่ 18 ที่เมือง Bled ประเทศสโลวีเนีย ว่า บริษัท Andrada ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติสโลวีเนีย มีแผนจะก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ณ นิคมอุตสาหกรรมเมือง Alsózsolca ใกล้เมือง Miskolc ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮังการี บนพื้นที่ 6 หมื่นตารางเมตร ด้วยกำลังการผลิตวัสดุรีไซเคิลเบื้องต้นประมาณ 10,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะสามารถจ้างแรงงานในพื้นที่ราว 200 คน คาดว่ามูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1 พันล้านบาท) โดยรัฐบาลฮังการีจะอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการลงทุนประมาณ 4.7 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 470 ล้านบาท) ขณะนี้อยู่ในช่วงการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชนในชุมชนใกล้เคียง

 

นาย Péter Szijjártó ย้ำกว่า ฮังการียังคงรักษาความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงได้ดี และคาดหวังว่าการลงทุนดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาว่าในอนาคต โลกจะมีปริมาณซากแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ประเทศฮังการี ในฐานะประเทศผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีพันธกิจในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อลดปัญหาขยะอันตรายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

 

การรีไซเคิลแบตเตอรี่ คือการนำแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานเข้าสู่กระบวนการทางกายภาพและกระบวนการทางเคมี เพื่อแปรสภาพแบตเตอรี่ให้กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ผ่านการดึงเอาวัตถุดิบและโลหะกลับมาใช้ใหม่ มีจุดประสงค์เพื่อลดของเสียที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ทั้งนี้ กระบวนการนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่หมดอายุการใช้งานกลับมาใช้ใหม่ของบริษัท Andrada นั้น จะประกอบด้วยขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหลายขั้นตอน รวมถึงกระบวนการโลหวิทยาสารละลายในระบบปิด เพื่อสกัดโลหะมีค่า ได้แก่ นิกเกิล โคบอลต์ แมงกานีส และลิเธียมจากซากแบตเตอรี่ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้ โดยตลอดกระบวนการจะมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและควบคุมการปล่อยของเสียอย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

บริษัท Andrada ระบุว่าการรีไซเคิลแบตเตอรี่ จะช่วยลดปริมาณแร่โลหะที่เป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ และสามารถส่งวัตถุดิบจากกระบวนการรีไซเคิลไปเข้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่มีอยู่หลายแห่งในประเทศฮังการีได้ เช่น โรงงานของบริษัทซัมซุง ที่เมือง Göd ปริมณฑลทางเหนือของกรุงบูดาเปสต์ โรงงานของบริษัท SK Battery ที่เมือง Komárom ทางเหนือของประเทศ จรดพรมแดนฮังการี-สโลวาเกีย โรงงานของบริษัท Yuasa ที่เมือง Miskolc ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และโรงงานของบริษัท CATL ที่กำลังก่อสร้างใกล้เมือง Debrecen ทางตะวันออกของประเทศ เป็นต้น

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

ปัจจุบัน ฮังการีก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก เนื่องจากมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจากหลายประเทศเลือกมาลงทุนและประกอบกิจการในประเทศฮังการี อย่างไรก็ดี เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัว อุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่อย่างถูกต้องก็จะขยายตัวตามไปด้วย อันมีปัจจัยสำคัญมาจากกฎระเบียบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีความเข้มงวดและเอื้อประโยชน์ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง รวมถึงการผลิตไฟฟ้าและพลังงาน

 

การลงทุนตั้งโรงงานการรีไซเคิลแบตเตอรี่ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ฮังการีลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะลิเธียมที่ประสบปัญหาการขาดแคลนทั่วโลก แต่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ถือเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจฮังการีไปสู่เป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับแผนงาน European Green Deal หรือมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 55% ในปี 2573 ของสหภาพยุโรป

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปลงมติรับรองการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยแบตเตอรี่และขยะแบตเตอรี่ (EU Batteries Regulation) ซึ่งจะใช้แทนข้อกำหนดเดิม (Directive 2006/66/EC) สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการตั้งข้อกำหนดการสิ้นสุดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ที่วางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป บังคับใช้เกณฑ์การติดฉลากแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ทั้งแบตเตอรี่ใหม่และแบตเตอรี่รีไซเคิล รวมถึงระบุเป้าหมายและภาระผูกพันในการรวบรวมขยะแบตเตอรี่และการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ ได้แก่

    • ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องบรรลุเป้าหมายการเก็บขยะแบตเตอรี่พกพา (Waste Portable Battery) กลับมากำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกต้องให้ได้ 63% ภายในสิ้นปี 2570 และ 73% ภายในสิ้นปี 2573
    • สำหรับขยะแบตเตอรี่จากยานยนต์ขนาดเล็ก (Light Duty Vehicles) ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยาน สกูตเตอร์ ฯลฯ สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายในการเก็บแบตเตอรี่ใช้แล้วมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลให้ได้ 51% ภายในสิ้นปี 2570 และ 61% ภายในสิ้นปี 2573
    • กำหนดระดับขั้นต่ำของปริมาณโลหะที่ผ่านการรีไซเคิลและจะนำไปผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่ สำหรับแบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรม แบตเตอรี่ตะกั่วกรดชนิด SLI และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ 16% สำหรับโคบอลต์ 85% สำหรับตะกั่ว 6% สำหรับลิเธียม และ 6% สำหรับนิกเกิล
    • ตั้งเป้าหมายอัตราการเก็บขยะแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม (แบตเตอรี่ใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป) กลับไปรีไซเคิล ไว้ที่ 80% ภายในสิ้นปี 2568 สำหรับขยะแบตเตอรี่ประเภทอื่นๆ ตั้งเป้าหมายการเก็บไปรีไซเคิลไว้ที่ 50% ภายในสิ้นปี 2568
    • บังคับให้ภายในปี 2570 ผู้บริโภคต้องสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่เครื่องใช้ไฟฟ้าได้เอง โดยที่ ไม่จำเป็นต้องให้ช่างเปลี่ยนให้หรือส่งกลับคืนผู้ผลิต เพื่อลดการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ยังจำเป็นต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

การขยายตัวของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่จนถึงจนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในฮังการี แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างฮังการีกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบการไทย แต่ก็ต้องมีการศึกษาการจัดหาวัตถุดิบ ส่วนประกอบ หรือเทคโนโลยีที่จำเป็นในการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่อย่างยั่งยืน โดยแนวโน้มการปรับเปลี่ยนในอุตสาหกรรมนี้ ผู้ประกอบการไทยก็ควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาเทคโนโลยีทันสมัยจากภาคเอกชนฮังการี อาทิ การจัดการของเสีย เทคโนโลยีการรีไซเคิล และกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศึกษากฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับการใช้งานแบตเตอรี่เพื่อนำกลับมาพัฒนาในธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาด และได้มาตรฐานสากล

 

ที่มาของข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login