ธนาคารเพื่อการลงทุนในสหรัฐ Morgan Stanley คาดการณ์ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะเปิดทบทวนเศรษฐกิจอียิปต์ครั้งแรกระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2566 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมที่จะเปิดทบทวนในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อประเมินผลการดำเนินการโครงการเงินกู้ก้อนล่าสุด ในวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ปล่อยกู้ให้แก่อียิปต์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นเวลา 46 เดือน โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ อียิปต์จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจของตนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น (การลอยตัวค่าเงินปอนด์อียิปต์) การโอนกิจการของรัฐเป็นเอกชน เป็นต้น
ทั้งนี้ IMF จะพิจารณาปล่อยกู้ก้อนดังกล่าวเป็นงวดๆ งวดที่ 1 ได้จ่ายให้อียิปต์แล้ว จำนวน 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับเงินกู้งวดที่ 2 ขึ้นกับผลของการเปิดทบทวนครั้งแรก ทำให้การเปิดทบทวนเศรษฐกิจอียิปต์ของ IMF ในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออียิปต์ เพราะจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า อียิปต์จะได้รับเงินกู้งวดที่ 2 ต่อไป หรือไม่ ทั้งนี้ Morgan Stanley มองว่า ตัวบ่งชี้ความคืบหน้าทางการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของอียิปต์ที่สำคัญ ซึ่ง IMF จะใช้ประกอบการพิจารณา คือ ดุลการชำระเงินของอียิปต์ ซึ่ง Morgan Stanley วิเคราะห์ว่า ได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ (ตามแผนภูมิด้านล่าง)
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงบวกอื่นๆ อันเป็นผลจากความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจของอียิปต์ ได้แก่ การโอนกิจการของรัฐเป็นเอกชน ผ่านการขายหุ้นกิจการภาครัฐ มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมคลองสุเอซเพิ่มขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจอียิปต์ได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง โดย Morgan Stanley ประเมินว่าปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยลดการขาดดุลชำระเงินของอียิปต์ลงได้มากถึง 29.8 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี Morgan Stanley ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของอียิปต์สำหรับปีงบประมาณ 2566/2567 ที่ 4.2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้ง ยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอียิปต์จะยังคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอียิปต์ (CBE) ไว้ที่ 18.25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน และ 19.25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืน
ข้อสังเกต
อียิปต์ประสบกับแรงกดดันเป็นพิเศษอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เลวร้ายลงจากการที่อียิปต์เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนที่กำลังเกิดความขัดแย้ง ส่งผลให้ราคาต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
อียิปต์มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปหลายประการตามมาตรการของ IMF รวมถึงการขยายบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การจำกัดบทบาทของรัฐบาลและกองทัพในระบบเศรษฐกิจ ลดการขาดดุลงบประมาณ การขยายเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม และการเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว
โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 อียิปต์ได้ลดค่าสกุลเงินท้องถิ่นถึง 3 ครั้ง โดยปัจจุบันเงินปอนด์อียิปต์อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31 ปอนด์อียิปต์/ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับ 15 ปอนด์อียิปต์/ดอลล่าร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
IMF กำหนดให้ฝ่ายอียิปต์จัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนโดยให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นโดยมากขึ้น โดยเพิ่มส่วนแบ่งของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 65 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ร้อยละ 30
อียิปต์ได้เปิดตัวโครงการขายทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลดช่องว่างทางการเงินมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์จนถึงปี 2569 และการขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากคลองสุเอซและภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้การขาดดุลการค้าของอียิปต์ลดลงอย่างมากถึง 29.8% คิดเป็น 23.6 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลล่าสุดของดุลการชำระเงินสำหรับเดือนกรกฎาคม 2565/มีนาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)