หน้าแรกTrade insight > อุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ในประเทศจีน

อุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ในประเทศจีน

เพลงออนไลน์ที่ถูกสร้าง เผยแพร่ และฟังผ่านช่องทางออนไลน์ ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คนชาวจีน โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์จะให้บริการที่รวมไปถึง ช่องทางการจัดจำหน่าย ข้อมูลเชิงลึกของผู้ชม และ บริการเชื่อมโยงเพลงออนไลน์กับโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ด้านโครงสร้างรายได้ของอุตสาหกรรม มาจากการชำระเงินของผู้ใช้เป็นหลัก และรายได้จากการโฆษณาเป็นรายได้รอง นอกจากนี้ ยังรวมถึงรายได้จากการดำเนินการด้านลิขสิทธิ์ การขายทางอีคอมเมิร์ซ และรายได้จากการ Live Streaming เป็นต้น

ด้วยการพัฒนาของอินเทอร์เน็ต และการเติบโตของผู้ใช้งานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2557-2560  มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจาก 370 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 548 ล้านคน และอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ก็ได้เข้าสู่ยุคของการพัฒนา ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ในประเทศร่ำรวยมากขึ้น ด้วยการบริการ     พอดแคสต์ การแสดงสด การออกอากาศและบริการอื่น ๆ ได้ดึงดูดกลุ่มผู้ใช้รายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยมีการประเมินก่อนปี 2565 ว่าในปี 2565 จะมีจำนวนผู้ใช้บริการในอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์เกิน 700 ล้านคน

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อย แต่อัตราการชำระเงินของผู้บริโภคยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ในปี 2561 มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 3.8 ที่ยอมจ่ายสำหรับบริการฟังเพลงออนไลน์           แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมได้รับแรงหนุนจากความเต็มใจในการใช้บริการจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ประเมินว่าอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 15.1 ในปี 2565

เนื่องจากอัตราการชำระเงินของผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี รายได้จากการสมัครสมาชิก ยอดขายอัลบั้มเพลงดิจิทัล และ การโฆษณา ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ขนาดของอุตสาหกรรมขยายตัว          อย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 ขนาดของตลาดเพลงออนไลน์ในจีนอยู่ที่ 2,800 ล้านหยวน และในปี 2563 ขนาดตลาดขยายตัวสูงถึง 12,800 ล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตแบบผสมเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงถึงร้อยละ 46.2 นอกจากนี้ การ Live Streaming ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ในประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยมีการประเมินว่าในปี 2565 ขนาดตลาดน่าจะสูงถึง 23,200 ล้านหยวน

ด้านการแข่งขันในตลาดปัจจุบัน บริษัท Tencent Music (腾讯音乐) ครองสัดส่วนในตลาดมากสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 70 ของส่วนแบ่งในตลาดเพลงออนไลน์ทั้งหมด รองลงมาเป็น Net Ease Cloud Music(网易云)ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20 โดย Tencent Music มีการพัฒนาระบบ และรูปแบบแพลตฟอร์มในเครือที่หลากหลาย อย่าง Duokugou, Kuwo และ QQ Music ที่มีความแข็งแกร่งด้านลิขสิทธิ์ จึงมีจำนวนผู้ใช้ที่ใหญ่และกว้างขวาง โดยในปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 YoY  ในขณะเดียวกัน Net Ease Cloud Music มีชื่อเสียงในด้านชุมชนเพลงดั้งเดิม และมีผู้ใช้งานที่เหนียวแน่น โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 YoY จึงกลายมาเป็นผู้เล่นอันดับต้น ๆ ในอุตสาหกรรม

ยุคของลิขสิทธิ์แบบไม่ผูกขาดในอุตสาหกรรมได้มาถึง รูปแบบธุรกิจมีความหลากหลาย และแพลตฟอร์มการฟังเพลงได้ถูกพัฒนาให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดสนใจในการแข่งขันในปัจจุบัน อุตสาหกรรมออนไลน์ในประเทศจีนได้ถูกยกระดับจากข้อพิพาทด้านลิขสิทธิ์ ไปสู่ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน อาทิ QQ Music ได้เปิดตัวฟังก์ชันโน้ตเพลงอัจฉริยะเป็นครั้งแรก และยังจับมือ WeChat Translation เปิดตัวเนื้อเพลง AI ภาษาจีนสำหรับเพลงภาษาต่างประเทศนับหมื่นเพลง Kuwo Music ได้เปิดตัวฟังก์ชันการอ่านเวอร์ชันใหม่ ที่ช่วยให้สามารถอ่านเนื้อเพลงหรือข้อความได้อย่างดื่มด่ำ เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นถึงตลาดที่เติบโตมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและองค์การให้ก้าวไกลไปสู่ระดับสากล

      ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : เสียงเพลงถือว่ามีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ รวมไปถึง ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรมของสังคม ดังนั้น เสียงเพลงจึงเป็นอีกหนึ่งอำนาจที่สามารถสร้างพลังในการรับรู้และเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ  และเป็นอีกช่องทางการถ่ายทอด ที่สามารถส่งสารตรงเข้าไปถึงความรู้สึกของผู้คนได้อย่างดี ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ของจีนได้มีการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการใช้งาน ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงเพลงได้หลากหลายรูปแบบง่ายยิ่งขึ้น สถิติในปี 2565 จํานวนผู้ใช้บริการเพลงออนไลน์ในประเทศจีนมีถึง 684 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 64.1 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

จากจำนวนผู้ใช้งานและอิทธิพลอำนาจของเพลง ช่องทางเพลงออนไลน์ของจีนจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการผลักดัน Soft power ของไทยผ่านเสียงดนตรี ที่จะสามารถนำมาซึ่งการสร้างการรับรู้ด้านวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น เสียงดนตรีไม่เพียงแต่สามารถสร้างการรับรู้ที่ลึกซึ้งเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ด้านการรับสารและข้อมูลต่าง ๆ  ในยุคที่ข่าวสาร เทคโนโลยีแพร่ขยายรวดเร็วและเป็นวงกว้าง เพลงไทย เป็นที่รู้จักและมีการ cover โดยประชาชนทั่วไป ทั้งท่าเต้น ทำนอง และเปลี่ยนคำร้องเป็นภาษาจีน ส่งผ่านคอนเทนในโต้วอิน (tiktok) จีน มากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั้ง คนจีนฝึกจนสามารถร้องตามเพลงเป็นภาษาไทยเอง ก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้เล่นโต้วอิน ทำให้เพลงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม Soft power ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คน และทำให้รู้จักประเทศไทยในหลายมิติมากยิ่งขึ้น

ที่มา :

https://www.chinabaogao.com/free/202301/623325.html

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1762952944022241094&wfr=spider&for=pc

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login