หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรม > อุตสาหกรรมเคมีของยุโรปตกที่นั่งลำบาก…เพราะสู้ราคาสินค้าจีนไม่ได้

อุตสาหกรรมเคมีของยุโรปตกที่นั่งลำบาก…เพราะสู้ราคาสินค้าจีนไม่ได้

นี้ขนาดในปี 2024 แล้ว อุตสาหกรรมเคมีของเยอรมนีก็ยังไม่ก้าวผ่านความอ่อนแอทางเศรษฐกิจสักที และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุปทานล้นตลาดอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมาอุตสากรรมดังกล่าวมีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและความต้องการในตลาดจีนยังไม่สูงพอ บริษัทจีนจึงจำเป็นต้องส่งออกสารเคมี ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์และฉุดให้ราคาสินค้าเคมีทั่วโลกตกต่ำลง โดยจากข้อมูลนี้แสดงผ่านเอกสารวิเคราะห์ของบริษัท ICIS บริษัทวิจัยตลาดอุตสาหกรรมชั้นนำ และหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ประเด็นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นอย่างมาก สำหรับสินค้าที่ผลิตจนล้นตลาดส่วนใหญ่เป็นสินค้าสารเคมีพื้นฐาน อาทิ พลาสติกพื้นฐาน และจากข้อมูลของ ICIS จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว และเป็นแบบนี้ต่อเนื่องมากตั้งแต่ปี 2020  ปัจจุบัน สินค้าเหล่านี้อยู่ในภาวะล้นตลาด ในขณะที่ความต้องการ (หรืออุปสงค์) ของตลาดโลกยังคงอ่อนตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากพิษเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ไม่ขยายตัวอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดคิดไว้ ภาวะดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันด้านราคา และอัตรากำไรให้แก่ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตของเยอรมนี อย่างกลุ่มบริษัท BASF ซึ่งเป็นบริษัทระบุค่าดัชนีหุ้นเยอรมัน (DAX) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้บริษัทจำนวนมากก็ใกล้จะปิดตัวลง เช่นเดียวกับคู่แข่งอีกหลาย ๆ บริษัทในยุโรป โดย 2 ใน 6 ของธุรกิจบริษัท BASF คือ การผลิตสารเคมีและพลาสติกพื้นฐานในปริมาณมากป้อนสู่ตลาดโลก และสำหรับการแปรรูปต่อไปสำหรับธุรกิจของบริษัท ในไตรมาสที่สองของปี 2024 กลุ่มบริษัท BASF ออกมาประกาศลดราคาผลิตภัณฑ์วัสดุพื้นฐานเกือบทั้งหมด ซึ่งบางส่วนมีการลดเป็นตัวเลขสองหลัก คาดว่า กำไรโดยรวมลดลง 18% อย่างไรก็ดี BASF ได้ยืนยันค่าคาดการณ์สำหรับปี 2024 อยู่แม้ว่ามีความเสี่ยงที่ราคาผลิตภัณฑ์วัสดุพื้นฐานจะลดลงอีกครั้ง

 

BASF ได้ตอบสนองต่อปัญหาเศรษฐกิจด้วยโครงการประหยัดลดค่าใช้จ่ายของตนเองเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเลิกจ้างงานด้วย สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการจ้างงานในเมือง Ludwigshafen ฐานหลักของ BASF ที่มีการประกอบธุรกิจติดลบมาเป็นเวลาสองปีติดต่อกันแล้ว ในพื้นที่ดังกล่าวโรงงานเคมีขั้นพื้นฐานที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก ได้ปิดตัวลงหลายแห่งแล้ว และขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบว่าจะสามารถปิดโรงงานใดได้อีก ภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้นาย Markus Kamieth ผู้บริหารคนใหม่ของ BASF ต้องการที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต สำหรับสถานที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัท โดยฝ่ายบริหารของบริษัท BASF เปิดเผยว่า อาจมีการ ลด เพิ่ม และ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต และสินค้าได้อีกรอบ โดย BASF เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายปัญหาของอุตสาหกรรมเคมีในปัจจุบัน ราคาก๊าซที่สูงขึ้นทำให้การผลิตสินค้าที่ต้องใช้พลังงานมากในเยอรมนีมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่าในปัจจุบันราคาไฟฟ้าและก๊าซลดลงบ้างแล้ว แต่จากการคำนวณของ ICIS ตัวเลขเหล่านี้ก็ยังคงสูงกว่าอัตราเฉลี่ยระยะยาวของปี 2012 – 2020 อยู่ดี ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเช่นในปัจจุบันทำให้ข้อเสียเปรียบในการแข่งขันนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมเคมีในประเทศ กำลังการผลิตของโรงงานในบางครั้งน้อยกว่า 70% หรืออยู่ในระดับที่ไม่ได้ผลกำไร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะดีขึ้นแต่อย่างใด ตามที่สมาคมอุตสาหกรรมเคมี (VCI – Verband der chemischen Industrie) ออกมาประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดย ICIS เรียกสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “พายุที่สมบูรณ์แบบ” ซึ่งจะโจมตีอุตสาหกรรมเคมีต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ICIS ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดไม่คิดว่า กำลังการผลิตสารเคมีพื้นฐานที่ปัจจุบันล้นตลาดโลกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันกำลังการผลิตจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 222 ล้านตัน ในปี 2024 และจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในปี 2025 โดยเฉพาะในจีนที่มีการวางแผนสร้างศูนย์รวมโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่เพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีกทั้งเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้วที่จีนได้ขยายขีดความสามารถด้านเคมีออกไปอย่างมหาศาล เนื่องจากจีนต้องการขยายการพึ่งพาตนเองในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นนั้นเอง นอกจากนี้ จากข้อมูลจากหน่วยงานจัดอันดับ S&P แจ้งว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะในพลาสติกพอลิโพรพีลีน (polypropylene, ย่อ PP) และพอลิเอทิลีน (polyethylene, ย่อ PE) ซึ่งพลาสติกทั้งสองชนิดที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยจนถึงปี 2019 ความต้องการสารเคมีพื้นฐานในจีนเติบโตเร็วกว่าอุปทานใหม่ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ หลังจากนั้นไม่นานสถานการณ์ตลาดก็พลิกผัน กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความต้องการ 2 – 3 เท่า อุปทานส่วนเกินนี้เองที่กำลังไหลเข้าสู่ตลาดนอกประเทศจีน ตามสถิติของธนาคารโลกแจ้งให้ทราบว่า ปี 2023 ประเทศจีนส่งออกสารเคมีและพลาสติกมีมูลค่ารวมกันมากถึง 260 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่าปี 2016 ถึง 2.5 เท่า และจากการประเมินโดยหนังสือพิมพ์ Handelsblatt แสดงให้เห็นว่า การส่งออกสารเคมีของจีนไหลเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างปี 2011 – 2016 จีนส่งออกเคมีภัณฑ์ 20% โดยประมาณไปยุโรป แต่แค่ในปี 2021 ปริมาณการส่งออกก็เพิ่มขึ้นเป็น 25% แล้ว สำหรับปี 2022 – 2023 ธนาคารโลกยังไม่มีรายละเอียดดังกล่าว แต่จากการประมาณการพบว่า ส่วนแบ่งการส่งออกเคมีภัณฑ์มายังยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนก็ยังขยายปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังละตินอเมริกามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์จากเอเชีย และสหรัฐอเมริกาก็ลดลงตามสัดส่วน ในด้านการส่งออกเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานดำเนินไปได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้แทนกันได้ส่วนใหญ่ ซึ่งมีการซื้อขายทั่วโลกในราคาที่ใกล้เคียงกัน ในการแข่งขันในตลาดดังกล่าวต้นทุนการผลิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในจีนต่ำกว่าในยุโรปมากอีกด้วย ICIS สรุปว่า นอกจากนี้ “การครอบงำตลาดสารเคมีหลักบางชนิดของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ในภาพรวมแล้วสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะคำนึงถึงต้นทุนการขนส่งไปยังตลาดต่างประเทศจากจีนแล้วก็ตาม ในไตรมาสที่สองของปี 2024 การส่งออกของจีนชะลอตัวลง จากปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่เกิดจากความขัดแย้งในทะเลแดง บริษัทที่ปรึกษา Alix Partners เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงผลชั่วคราวเท่านั้น จากการคำนวณของพวกเขา ตั้งแต่ปี 2021 ต้นทุนการขนส่งสินค้าสำหรับการขนส่งจากจีนไปยังยุโรปลดลง 60 -70% โดยบริษัท Alix Partners เขียนในรายงานว่า “ในระยะยาวการส่งออกเคมีของจีนน่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้”

 

ปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาตัวทางเศรษฐกิจของธุรกิจสารเคมีพื้นฐานยุโรป ได้แก่ (1) สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนกำลังบุกตลาดตลาด ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตในยุโรปจะต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อสู้กับสินค้าจีน และ (2) ต้นทุนการผลิตที่สูงในยุโรป เนื่องจากพลังงานมีราคาสูง ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ยุโรปผลิตสินค้าปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานให้ตัวเองน้อยลงเรื่อย ๆ และจากข้อมูลของ Cefic สมาคมเคมีแห่งยุโรป แสดงให้เห็นว่า ล่าสุดยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานของสารเคมีที่นำเข้ามาทั้งหมดในยุโรปคิดเป็น 56% โดยประมาณ โดยตัวเลขดังกล่าวปี 2017 อยู่ที่ 47% เท่านั้น ซึ่งวิกฤติดังกล่าวกำลังบีบให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปิดโรงงานลง จากข้อมูลของ ICIS มีการวางแผนหรือได้ดำเนินการปิดโรงงานโดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับเคมีขั้นพื้นฐาน 40 แห่งทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในยุโรปเป็นหลัก มากกว่าครึ่งหนึ่งของแผนปิดโรงงานในสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรนอกจาก BASF แล้ว บริษัท Celanese ของสหรัฐฯ ก็กำลังลดกำลังการผลิตที่โรงงานในเมือง Hamm-Uentrop ในประเทศเยอรมนีลง บริษัท Trinseo ผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติอเมริกันกำลังวางแผนที่จะปิดโรงงานในเมือง Stade ตอนเหนือของเยอรมนีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการปิดโรงงานในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสเปนด้วย เพื่อตอบสนองสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ อย่าง Shell และ Lyondell-Basell เองก็กำลังทบทวนเครือข่ายการผลิตในยุโรปของตนเช่นกัน นาย Kamieth ผู้บริหารหลักของ BASF หวังว่า วิกฤติดังกล่าวจะบรรเทาตัวลงบ้างในไม่ช้า โดยเขากล่าวให้สัมภาษณ์พร้อมกับนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ว่า “เมื่อภาคอุตสาหกรรมในจีนเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น กำลังการผลิตที่ล้นอยู่ก็จะถูกดึงกลับสู่ประเทศโดยอัตโนมัติ” แต่ก็มีผู้ที่มองโลกในแง่ดีน้อยกว่านาย Kamieth อยู่ นักวิเคราะห์ของ S&P คาดว่า การฟื้นตัวของธุรกิจเคมีจะช้ากว่าวิกฤตครั้งก่อนมาก อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจะสามารถยุติอุปทานส่วนเกินได้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า การลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และการปิดโรงงานในสถานที่ที่มีต้นทุนสูงนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น S&P จึงคาดว่า การเรียกร้องให้มีสร้างกำแพงภาษีป้องกันการทุ่มตลาดสหภาพยุโรปน่าจะเกิดขึ้นกับสินค้าสารเคมีที่นำเข้ามายังยุโรป

 

จาก Handelsblatt 16 กันยายน 2567

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อุตสาหกรรมเคมีของยุโรปตกที่นั่งลำบาก…เพราะสู้ราคาสินค้าจีนไม่ได้

Login