แนวโน้มอาหารออร์แกนิกในสหรัฐอเมริกา
อาหารออร์แกนิก (Organic Food) หรืออาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเร่งการเจริญเติบโต สารเคมี ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน ยาฎิชีวนะ หรือการฉายรังสีใดๆ กำลังเติบโตอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ในระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาความต้องการของสินค้าออร์แกนิกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากสถิติของ Statista ในปี 2565 พบว่ากว่าร้อยละ 30 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันนั้นได้มีการเลือกซื้ออาหารออร์แกนิก ทั้งนี้ ความต้องการของอาหารออร์แกนิกนั้นเกิดจากความกระแสความใส่ใจในสุขภาพและการคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหาร และกระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA) ได้ออกมาตรฐานการผลิตอาหารออร์เเกนิกในปี 2543
สถานการณ์ตลาดปัจจุบัน
อุตสาหกรรมอาหารออร์แกนิกในสหรัฐฯ นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถเห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จาก 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2556 สู่ 60,000 ล้านเหรียญในปี 2565 และในปี 2566 มีอัตราการเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า โดยคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าออร์แกนิกในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้เห็นว่าสินค้าออร์แกนิกสามารถก้าวข้ามวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ ถึงแม้สหรัฐฯ จะมีความผันผวนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันก็ยังคงใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง โดยในปี 2565 มูลค่าการขายสินค้าออร์แกนิกในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของยอดขายอาหารทั้งหมด
ยอดขายของอาหารออร์แกนิกในสหรัฐฯ ปี 2556-2065
สินค้าออร์แกนิกที่ขายดีที่สุด
ร้อยละ 15 ของยอดขายผักและผลไม้ทั้งหมดในสหรัฐฯ เป็นสินค้าออร์แกนิก โดยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกผักและผลไม้ที่ขายดีนั้น ได้แก่ ผลไม้จำพวกเบอร์รี่ ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 โดยมีมูลค่าสูงถึง 1,660 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยสลัดบรรจุกล่อง มียอดขาย 1,510 ล้านเหรียญสหรัฐ และแอปเปิ้ลที่มียอดขาย 660 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกอื่นๆ ที่ขายดีในร้านขายของชำ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มโดยทำยอดขายไปได้กว่า 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มอาหารประเภทขนมปัง โดยมีมูลค่าสูงถึง 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าอาหารเช้าอยู่ที่ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาหารเด็กอยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มธัญพืช เครื่องปรุงรส และอาหารสำเร็จรูปด้วย
ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ เช่น Whole food หรือ Walmart เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลักสำหรับอาหารออร์แกนิก โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55-60 ของช่องทางการขายสินค้าอาหารออร์แกนิกทั้งหมด เนื่องจากสะดวกสบายและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย นอกจากนี้ สินค้าออร์แกนิกยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายในร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง (Specialty Store) โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20-25 เช่น ร้าน Fresh Thyme ที่เน้นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตามมาด้วยช่องทางการค้าปลีกออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 เนื่องด้วยผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาใช้บริการเลือกซื้อของอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารออร์แกนิก
กระแสของการบริโภคอาหารออร์แกนิกนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความใส่ใจในสุขภาพที่มากขึ้นของชาวอเมริกัน จากข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด Mintel ระบุว่า กว่าร้อยละ 50 ของชาวอเมริกันต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นและต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง นอกจากนี้ กระแสของฉลาก Clean Label ซึ่งเป็นฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบหรือเครื่องปรุงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์นั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกนั้นเป็นตัวเลือกต้นๆ ในการเลือกซื้ออาหารของชาวอเมริกัน โดยผู้บริโภคยังได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการรับรองและฉลากต่างๆ มากขึ้น เช่น มาตรฐาน USDA Organic มาตรฐาน Non-GMO Project Verified และมาตรฐาน Fair Trade มาตรฐานการรับรองเหล่านี้ได้สร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความโปร่งใสในการผลิตของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก
การส่งออกอาหารออร์แกนิกไปยังสหรัฐฯ
ผู้ผลิตและส่งออกในไทยที่จะส่งออกสินค้าออร์แกนิกไปยังตลาดสหรัฐฯ จะต้องปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การบริหารจัดการให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิก พร้อมกับควบคุมสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของ USDA การขอใบรับรองสินค้าออร์แกนิกนั้นต้องทำการขอใบรับรองจากผู้ที่สามารถออกใบรับรองให้ได้ตามกฏหมาย (Certifying Agent) เพื่อสามารถปิดฉลากสินค้าออร์แกนิกได้อย่างถูกกฎหมาย
การขอการใบรับรองสินค้าออร์แกนิกตามมาตรฐานของ USDA ซึ่งสามารถขอได้จาก 2 ช่องทาง ดังนี้
- การขอใบรับรองสินค้าออร์แกนิกของ USDA
ผู้ประกอบการในไทยสามารถขอใบรับรองจาก Certifying Agent เพื่อตรวจสอบและออกใบรับรอง USDA Organic จากหน่วยงานต่างๆที่ได้รับการยอมรับจาก USDA
ข้อมูลและขั้นตอนการสมัคร : https://www.ams.usda.gov/services/organic-certification/becoming-certified
รายชื่อหน่วยตรวจรับรอง USDA Organic : https://organic.ams.usda.gov/integrity/Certifiers/CertifiersLocationsSearchPage
- การขอใบรับรองสินค้าออร์แกนิกจากมาตรฐานของประเทศอื่น
USDA นั้นได้มีข้อตกลงความเทียบเท่าออร์แกนิก (Organic Equivalency) ไว้กับบางประเทศ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงตลาดสินค้าออร์แกนิกทั่วโลก โดยในข้อตกลงระบุไว้ว่าสินค้าออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองจากประเทศในประเทศหนึ่งสามารถนำไปขายในอีกประเทศในฐานะสินค้าออร์แกนิกได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีการส่งสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้และมีใบรับรองสินค้าออร์แกนิกจากประเทศเหล่านี้สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยไม่ต้องขอใบรับรอง USDA Organic เพิ่มเติม ยกเว้นในกรณีของผลผลิตจากสัตว์เกษตรอินทรีย์ที่จะต้องมีการตรวจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติมซึ่งผู้ประกอบการส่งออก ไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการรับรองที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคและข้อกำหนดที่เข้มงวดของสหรัฐฯ
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
เนื่องจากกระแสความใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารจำพวกออร์แกนิกนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในไทยในการเจาะตลาดสินค้าอาหารออร์แกนิก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสนใจกับกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตของ USDA อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.imarcgroup.com/united-states-organic-food-market
https://ota.com/news/press-releases/22820
https://www.ers.usda.gov/topics/natural-resources-environment/organic-agriculture.aspx
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อุตสาหกรรมสินค้าอาหารออร์แกนิกในสหรัฐฯ