Beidou เป็นระบบนำทางและระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมระดับโลก ที่สร้างขึ้นและดำเนินการโดยประเทศจีน โดยบริการของ Beidou ได้รับการยอมรับ และถูกนำไปปรับใช้กับธุรกิจและบริการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเทอร์มินัลมือถือ และบริการที่ต้องใช้ตำแหน่งเป็นต้น ซึ่ง Beidou มีความสามารถในระบุตำแหน่ง การนำทาง และกำหนดระยะทางที่มีความแม่นยำสูงภายใต้ทุกสภาพอากาศ การบริการของ Beidou ได้ค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของผู้คน และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการประยุกต์ใช้กับธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบนำทางด้วยดาวเทียม Beidou มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้งานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ระบบการนำทางด้วยดาวเทียมและขนาดของอุตสาหกรรมบริการระบุตำแหน่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียม ระบุว่า ในปี 2565 มูลค่าผลผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมบริการนำทางและระบุตำแหน่งของจีนอยู่ที่ 500,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.76 YoY นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมธุรกิจจีนคาดการณ์ว่า ในปี 2566 มูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมจะสูงถึง 573,000 ล้านหยวน
ด้วยการดำเนินงานและการวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ ร่วมกับดิจิทัล และ Big Data ในประเทศ การพัฒนาด้านดิจิทัลในเมืองและชนบท ระบบไร้คนขับ และการบริการข้อมูลอัจฉริยะ เป็นต้น กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในปี 2565 มูลค่าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีการนำทางและระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็น ชิป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อัลกอริทึม ซอฟต์แวร์ ข้อมูลการนำทาง และอุปกรณ์ปลายน้ำ เป็นต้น อยู่ที่ 152,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.05 YoY คาดว่าในปี 2566 มูลค่าของอุตสาหกรรมจะสูงถึง 169,700 ล้านหยวน
ในปี 2565 ยอดขายของผลิตภัณฑ์เครื่องนำทางและระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมอยู่ที่ประมาณ 376 ล้านเครื่อง/ชุด ในจำนวนนี้ ยอดขายฟังก์ชันระบุตำแหน่งในสมาร์ทโฟนมีปริมาณ 264 ล้านเครื่อง/ชุด ปริมาณการขายอุปกรณ์ระบุตำแหน่งต่าง ๆ รวมถึง Internet of Things อยู่ที่ 100 ล้านเครื่อง/ชุด และยอดขายอุปกรณ์ที่ใช้นำทางและระบุตำแหน่งบนยานพาหนะอยู่ที่ 12 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนำทางและระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม ได้รับความสนใจอย่างมากจากภาครัฐ และได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับชาติ จึงมีการออกนโยบายหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งแบบบูรณาการสมัยใหม่ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการรับรองผลิตภัณฑ์พื้นฐานของ Beidou และแผนพัฒนาระบบขนส่งดิจิทัล รวมกับ Beidou เป็นต้น เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นระบบ 5G, Cloud, Big data, AR, Internet of Things และ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น บวกกับความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายจากทั่วโลกของ Beidou ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ แอปพลิเคชัน เทคโนโลยี และแอปพลิเคชันใหม่ ๆ การประยุกต์ใช้บริการนำทางและบริการระบุตำแหน่งในอุตสาหกรรมและสาขาต่างๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบนำทางและระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม Beidou ของจีน จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ และยังส่งผลดียังธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการนำทางและระบุตำแหน่งในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่จะสามารถใช้ติดตามพิกัดยานพาหนะและสินค้าที่มีความแม่นยำและเสถียรภายในเครือข่าย Beidou ทั่วโลก ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพทางการขนส่งสินค้าได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลนำทางและระบุตำแหน่งจากดาวเทียมจะถูกปรับปรุงใช้กับพื้นที่ ให้เป็นปัจจุบัน ละเอียด และถูกต้อง ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางแผนบริหาจัดการพื้นที่ ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำมาใช้รวมกับการจัดการทางการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และข้อมูลจากดาวเทียมยังสามารถใช้สำหรับการศึกษาและบริการเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ Beidou ยังสามารถเปิดโอกาสให้กับธุรกิจและสถาบันในประเทศไทยในการพัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของประเทศไทยในอนาคต
ที่มา:
https://mp.weixin.qq.com/s/zE9sxgOHWb9UF1p52GTVcA
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
6 ตุลาคม 2566