หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > อุตสาหกรรมภาพยนตร์สเปนเฟื่องฟู โอกาสไทยอวดฝีมือในเทศกาลหนังเพียบ

อุตสาหกรรมภาพยนตร์สเปนเฟื่องฟู โอกาสไทยอวดฝีมือในเทศกาลหนังเพียบ

ตั้งแต่สเปนประกาศนโยบาย Spain Audiovisual Hub หรือ “สเปน ศูนย์กลางโสตทัศน์”  เมื่อปี 2564 รัฐบาลสเปนก็ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อโสตทัศน์อย่างต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานเพื่อฉุดเศรษฐกิจและช่วย SMEs ลดผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 โดยทุ่มงบ 1,603 ล้านยูโร หรือประมาณ 64,000 ล้านบาท สำหรับ 5 ปี ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตโสตทัศน์ในสเปนขึ้นร้อยละ 30 ภายใน 2568 เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านดิจิทัลและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ยกระดับทักษะกำลังคน ปรับปรุงระบบนิเวศน์ และเร่งประชาสัมพันธ์สื่อสารกับนานาชาติผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ พร้อมทั้งจัดตั้ง Spain Audiovisual Hub Bureau ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลและความช่วยเหลือทุกด้าน นอกจากนี้ แต่ละแคว้นของสเปนยังออกมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอัตราแตกต่างกันนอกเหนือจากที่รัฐบาลกลางกำหนด ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ สเปนได้รับเลือกเป็น Country of Honour ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ณ ประเทศฝรั่งเศสด้วย

ในด้านการเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ สเปนไม่แพ้ใครในโลกด้วยภูมิประเทศ ทิวทัศน์ และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม หลากหลาย สภาพอากาศดี มีแรงงานทักษะในวิชาชีพภาพยนตร์จำนวนมาก จนได้รับฉายาว่าเป็น Hollywood ของยุโรป มีภาพยนตร์และละครซีรี่ส์จำนวนมากระดับนานาชาติมาถ่ายทำที่สเปนจนองค์กรการท่องเที่ยวของสเปนใช้ประโยชน์จากฐานแฟนคลับเหล่านี้ดันแคมเปญ “เที่ยวสเปนไปกับหนังโปรดของคุณ” ร่วมกับ Netflix จัดทำโบรชัวร์แผนที่นำทางเมืองต่างๆ ในสเปนออกมาได้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นานาชาติมากที่สุด คือ กรอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับกองถ่ายต่างชาติซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 30 ทั่วประเทศ แต่หมู่เกาะคานารี และ นาบาเร่ ให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ในอัตราสูงถึงร้อยละ 50 และ 35 ตามลำดับภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้เองทำให้สเปนกลายเป็นแหล่งผลิตสื่อโสตทัศน์ที่สำคัญของโลกบรรลุตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้

นาย Gonzalo Cabrera ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมของมาดริด กล่าวว่า “มาดริดสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 3.3 พันล้านยูโรจากภาคโสตทัศน์ เกิดการจ้างงานโดยตรง 20,000 คน คิดเป็น 1% ของ GDP ของภูมิภาค และคาดว่าจะเติบโตประมาณ 25% ในปีต่อๆ ไป จนกลายเป็น 3% ของ GDP ได้จากปัจจัยหนุนทางเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของประชากรและภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น รวมถึงผลพวงจากนโยบายการลดหย่อนภาษีของมาดริดในปัจจุบันที่ 31.25% ซึ่งดึงดูดการถ่ายทำจากต่างประเทศ” ขณะที่นาย Raúl Berdonés ประธาน Madrid Audiovisual Cluster และผู้บริหารของ Secuoya Content Group เสริมว่า “การผลิตสื่อโสตทัศน์ที่นี่คิดเป็นเกือบ 67% ของการผลิตที่เกิดขึ้นในสเปน โดย Madrid’s Cluster เริ่มต้นด้วยบริษัท 37 แห่ง และภายในสามเดือนก็ขยายเป็น 67 บริษัท” ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการภาพยนตร์มาดริดยังต้องการจะผลักดันให้เกิดการบูรณาการกับมหาวิทยาลัยและศูนย์ฝึกอบรมมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคส่วนนี้เติบโตทันแนวโน้มด้าน AI รวมถึงการเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษด้วย “ไม่ใช่แค่ผู้กำกับและนักแสดงที่พูดภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่เราต้องการช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ทุกคนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอุตสาหกรรมของเราหากเราต้องการทำให้มันแข็งแกร่งและยั่งยืน” นาย Berdonés กล่าว

ในด้านการเป็นตลาดภาพยนตร์ สเปนนับว่ามีศักยภาพสูงเนื่องจากนิยมบริโภคสื่อบันเทิงและมีความเปิดกว้างพร้อมลองเนื้อหาใหม่ๆ โดยสเปนมีเทศกาลภาพยนตร์ สารคดี และละครระดับนานาชาติและระดับประเทศจำนวนมากหมุนเวียนจัดตลอดปี อาทิ

  • San Sebastián International Film Festival ณ เมือง San Sebastián เดือนกันยายน : เทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติอันดับหนึ่งของสเปน จัดที่เมือง ซาน เซบาสเตียน ทางตอนเหนือของสเปน ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 ดึงดูดดาราจากทั่วโลก และมีการเปิดตัวฉายหนังรอบปฐมทัศน์ที่นี่หลายเรื่อง ในปี 2565 ภาพยนตร์เรื่อง “ร่างทรง” จากบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จากัด ได้รับรางวัล สาขา The Best Film ในสาย Jury (Premio Blogos de Oro a la Mejor Pelicula) จากเทศกาลภาพยนตร์ San Sebastian Horror and Fantasy Film Week ครั้งที่ 32 ประเทศสเปน
  • Seminci: Semana Internacional de Cine en Valladolid ณ เมือง Valladolid เดือนตุลาคม :เทศกาลนี้เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุด โดยเริ่มแรกในปี 1956 ฉายหนังเกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น ต่อมาเปิดกว้างขึ้นและขยายสู่เวทีนานาชาติ มีการประกวดภาพยนตร์ชิงเงินรางวัลจำนวนมาก
  • International Fantastic Film Festival of Catalonia (Sitges) ณ เมือง ซิตเจส เดือนตุลาคม : เทศกาลซิตเจส หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาลภาพยนตร์จินตนิมิตนานาชาติแห่งกาตาลุญญา เป็นอีกหนึ่งเทศกาลภาพยนตร์ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในยุโรป เน้นภาพยนตร์จินตนิมิตและภาพยนตร์สยองขวัญ เป็นเวทีที่สร้างคนรุ่นใหม่จำนวนมากในวงการ
  • CASA ASIA FILM WEEK (The Asian Film Festival) ณ นครบาร์เซโลนา เดือนพฤศจิกายน : เวทีรวบรวมภาพยนตร์อาร์ตในแถบเอเชีย ซึ่งส่วนมากดำเนินการสร้างโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ และเป็นการนำเสนอรูปแบบภาพยนตร์ที่ต่างจากภาพยนตร์กระแสหลัก ในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ได้นำภาพยนตร์ไทย จานวน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง The Vanishing Point และเรื่อง The Blue Hour เข้าฉายในงาน CASA ASIA FILM WEEK 2016 (CAFW) เพื่อเผยแพร่ศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ บันเทิง และคอนเทนท์ไทยที่ครบวงจร ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดต่างประเทศ
  • Asian Moving Images Festival in Madrid ณ กรุงมาดริด เดือนตุลาคม : เทศกาลที่จัดฉายภาพยนตร์และประกวดภาพยนตร์สายอาร์ตจากเอเชีย โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหน้าใหม่ในแถบเอเชียได้เปิดตลาดภาพยนตร์ในแถบยุโรป ในปี 2561 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์ Moving Images Spain จัดฉายภาพยนตร์ไทยที่โรงภาพยนตร์ Cine Studio ซึ่งได้จัดฉายภาพยนตร์ไทยเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2553 และจัดเสวนาเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และแรงบันดาลใจในการผลิตภาพยนตร์จากผู้สร้างภาพยนตร์ไทย คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ต่อด้วยการฉายภาพยนตร์สั้นของ คุณอภิชาติพงศ์ฯ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาธารณชนชาวสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสเปนที่อยู่ในแวดวงการผลิตภาพยนตร์และสื่อบันเทิง รวมทั้งจากนักศึกษาในสถาบันการศึกษาด้านศิลปะและภาพยนตร์
  • นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น Málaga Film Festival ณ เมืองมะละกา เดือนมีนาคม Mabella Film Festival เมืองมาเบญ่า เดือนตุลาคม Point of View, Navarra International Festival of Documentary Cinema ณ เมือง Navarra เดือนกุมภาพันธ์ Festival Internacional Documental de Barcelona ณ นครบาร์เซโลนา เดือนตุลาคม Bilbao International Festival of Documentary and Short Film ณ เมืองบิลเบา เดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม Orense International Independent Film Festival ณ เมืองออเรนเซ่ เดือนพฤศจิกายน ฯลฯ

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ผู้บริโภคสเปนนิยมบริโภคสื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาแตกต่าง แหวกแนว เห็นได้จากการที่เทศกาลภาพยนตร์ในประเทศสเปนมักเป็นเวทีสำหรับการเปิดตัวภาพยนตร์นอกกระแสทั้งภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ยาว ซึ่งประเทศไทยมีภาพยนตร์ในลักษณะนี้อยู่ไม่น้อย ดังนั้น การส่งภาพยนตร์เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์สเปนจึงเป็นโอกาสที่ผู้สร้างรุ่นใหม่ของไทยจะรุกเข้าสู่ตลาดยุโรป ตลาดละตินอเมริกา และก้าวต่อไปสู่ระดับนานาชาติได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากมาตรการทางภาษีของสเปนโดยร่วมทุนกับบริษัทสเปนหรือบริษัทนานาชาติในการสร้างหรือถ่ายทำภาพยนตร์ที่สเปนเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือภาษา แม้ผู้บริหารในอุตสาหกรรมจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติชาวสเปนยังคงใช้ภาษาสเปนเป็นหลักอยู่มาก การเจรจาธุรกิจและการร่วมธุรกิจกันจึงยังคงพึ่งพาภาษาสเปน ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าตลาดจึงต้องมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาสเปนได้ดีอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในมุมของ Soft Power และการท่องเที่ยว สคต.เห็นว่าสเปนเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจในการเชื่อมโยง “ความภูมิใจในวัฒนธรรมและความเป็นสเปน” เข้ากับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการท่องเที่ยวได้อย่างแนบเนียน อาทิ มีการการจัดทำแคมเปญ “ท่องเที่ยวสเปนตามหนังสุดโปรดของคุณ” หรือการจัดทำแคมเปญ “ทำอย่างไรให้รู้ว่าเป็นสเปนโดยไม่ต้องพูด” ร่วมกับ Netflix โดยให้ผู้สร้างหนังรุ่นใหม่ออกแบบแนวคิดในการถ่ายทำที่นำเสนอความเป็นสเปนได้มากที่สุด เกิดเป็นภาพจำและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในเวทีสากล จนนำไปสู่ความชื่นชอบและมูลค่าทางเศรษฐกิจตามมา

ที่มา :

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

https://spainaudiovisualhub.mineco.gob.es

https://variety.com

https://madridfilmoffice.com

https://www.enforex.com

https://www.spain.info

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login