วันพุธที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 6.21 น. คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (NEC) ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า นายอี แจ-มยอง จากพรรคประชาธิปไตย (DPK) ได้รับเลือกตามผลการนับคะแนนสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 21 โดยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 49.42 หรือจำนวน 17,287,513 คะแนน ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน นายคิม มุน-ซู ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 41.15 และนายอี จุน-ซอก ผู้สมัครจากพรรคปฏิรูป ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 8.34
เวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน นายอี แจ-มยอง ได้เดินทางเข้าร่วมพิธีสาบนตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารรัฐสภากลางในย่านตะวันตกของกรุงโซล โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถาบันของรัฐที่สำคัญ ได้แก่ รัฐสภา ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (NEC) รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้นำพรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยไม่มีแขกต่างชาติได้รับเชิญ
นายอี แจมยอง เกิดในครอบครัวยากจน ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองอันดง จังหวัดคยองซังเหนือ ความลำบากทางการเงินทำให้เขาต้องทำงานในโรงงานผลิตนาฬิกาหลังจากจบการศึกษาระดับประถม โดยได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 200 วอน (ประมาณ 15 เซนต์สหรัฐฯ) แม้อุบัติเหตุในที่ทำงานในวัยเยาว์จะทำให้แขนซ้ายของเขาพิการถาวร แต่เขาไม่ยอมให้ความยากลำบากมากำหนดอนาคตของตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนชีวิตจนสอบผ่านวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับทุนการศึกษาเข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชุงอัง โดยในสมัยที่เป็นนักศึกษา เหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู (Gwangju Uprising) ในปี ค.ศ. 1980 ได้จุดประกายให้เขาอุทิศตนเพื่อความยุติธรรมทางสังคม และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเขาได้เริ่มต้นอาชีพในฐานะทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่เมืองซองนัม และมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วจากการต่อสู้กับการทุจริตในท้องถิ่นและผลักดันประเด็นสาธารณระต่าง รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลของรัฐ ความเคลื่อนไหวและความทุ่มเทต่อการรับใช้ประชาชนของเขานำเขาเข้าสู่เส้นทางการเมือง ด้วยความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องอาศัยพลังทางการเมือง
นาย อี แจม-ยอง ลงรับสมัครรับเลือกตั้งประธานธิบดีครั้งแรกในปี 2560 และในปี 2565 เขาพ่ายแพ้การอดีตประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล อย่างหวุดหวิดด้วยคะแนนที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ยอมแพ้และกลับเข้าสู่วงการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตคเยยัง เมืองอินชอน และต่อมาได้รับตำแหน่งผู้นำพรรค DPK ด้วยแรงสนับสนุนอย่างล้นหลาม
ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 21 แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประธานาธิบดีอีแจมยองให้คำสัญญาว่า จะตอบรับเสียงเรียกร้องเร่งด่วนของประชาน โดยจะเริ่มต้นจากการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและประชาธิปไตยที่ถูกพังทลายจากรัฐบาลชุดก่อน นอกจากนี้ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า รัฐบาลประชาธิปไตยใหม่ภายใต้การปกครองของตน จะเป็นรัฐบาลที่รวมพลังกันอย่างยุติธรรม มีความยืดหยุ่น และสามัคคีปรองดอง รวมถึงแสดงเจตจำนงในฐานะผู้นำประเทศ 5 ประการ ได้แก่ 1) สร้างประชาธิปไตยที่ประชนเป็นเจ้าของที่แท้จริง 2) สร้างประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า 3) ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาภูมิภาคอย่างสมดุล 4) สร้างวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง 5) สร้างประเทศที่ปลอดภัยและสงบสุข
ในด้านเศรษฐกิจ ประธานาธิบดี อี แจ-มยอง ให้คำมั่นว่าจะใช้แนวทางยึดหลักความเป็นจริง เพื่อกระตุ้นการเติบโต และส่งเสริมเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ ขณะเดียวกัน ในด้านการต่างประเทศ ประธานธิบดีเน้นย้ำถึงการทูตที่เน้นปฏิบัตินิยม (Pragmatism) โดยยึดผลประโยชน์ของชาติ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง พร้อมกล่าวว่า จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น บนพื้นฐานของพันธมิตรเกาหลีใต้-สหรัฐที่มั่นคง และจะเข้าหาประเทศเพื่อนบ้านด้วยมุมมองที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและผลประโยชน์ร่วมกัน
จากการสำรวจของ Realmeter องค์การสำรวจความคิดเห็นของเกาหลีใต้ ณ วันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2568 เผยว่า ชาวเกาหลีเกือบ 6 ใน 10 คนให้ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของประธานาธิบดีอีแจ-มยองในเชิงบวก โดยร้อยละ 58 ของผู้ใหญ่ 2,507 คนทั่วประเทศ ยอมรับในประสิทธิภาพการทำงานของประธานาธิบดีอี ขณะที่ร้อยละ 34.2 ให้ความเห็นว่าเขาทำงานได้ไม่ดี และร้อยละ 7.2 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าไม่แน่ใจ
คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีอี แจ-มยองในสัปดาห์แรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สูงกว่าคะแนนนิยมของอดีตประธานาธิบดีอย่าง นายยุน ซอก-ยอล ซึ่งได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 52.1 และปาร์ค กึนเฮ ที่ได้รับคะแนนร้อยละ 54.8 อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมดังกล่าวยังต่ำกว่าคะแนนนิยมของ อดีตประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ซึ่งได้รับคะแนนถึงร้อยละ 81.6 เปอร์เซ็นต์ และอี มยอง-บัก ที่ร้อยละ 76
Realmeter ระบุว่า การประเมินในเชิงบวกเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้น ตลอดจนการกลับมาดำเนินการทางการทูตอีกครั้ง รวมถึงการสนทนาโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีและคู่ค้าในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน
สำหรับภารกิจทางการทูตครั้งแรกของนาย อี แจ-มยอง ในฐานะประธานาธิบดี คือการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ณ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ส่งสัญญาณว่าการทูตระดับสูงของเกาหลีกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เผชิญภาวะผู้นำห่างกันเป็นเวลา 6 เดือน โดยล้มเหลวในการพยายามใช้กฎอัยการศึกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
บทวิเคราะห์
รัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี อี แจ-มยอง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ หากเกาหลีใต้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเลือกที่จะลงทุนด้านเทคโนลยีขั้นสูง เช่น AI และเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจได้รับโอกาสในการร่วมลงทุน หรือเป็นฐานการผลิต สำหรับสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร ความนิยมสินค้าไทยในเกาหลีใต้ยังอยู่ในระดับสูง หากรัฐบาลใหม่ไม่มีนโยบายกีดกันทางการค้า การส่งออกสินค้าอาหารและเกษตร จะยังคงเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยมีโอกาสขยายตลาดมายังเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม นโยบายการต่างประเทศแบบปฏิบัตินิยมของประธานาธิบดีอี อาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อการทบทวนข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบ RCEP หรือช่วยผลักดัน FTA ไทย-เกาหลี ในทางกลับกันหากความสัมพันธ์เกาหลี-ไทย ถูกลดความสำคัญลง ก็อาจทำให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศชะลอตัวลง
(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 4 และ 16 มิถุนายน 2568)
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อี แจ-มยอง สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 21 ของเกาหลีใต้