ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 3-7 กรกฎาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เผยแพร่รายงาน State of Schengen Report ฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 โดยเนื้อหาของรายงานดังกล่าว สนับสนุนการขยายตัวของเขตเชงเก้น และเรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาตรการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs Council) พิจารณาให้สถานะสมาชิกเขตเชงเก้นแก่โรมาเนียและบัลแกเรียในรอบการประชุมรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2566
นอกจากนี้ ประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป (European Union Parliament) นาง Roberta Metsola ยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Puls 24 ของออสเตรียว่า รัฐสภายุโรปเข้าใจดีว่ารัฐบาลออสเตรียกังวลเรื่องปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย อันเป็นปัญหาใหญ่ของสหภาพฯ ทว่าในฐานะประธานรัฐสภาฯ ตนจะพยายามโน้มน้าวรัฐบาลออสเตรียให้เปลี่ยนใจมายกมือสนับสนุนโรมาเนียและบัลแกเรียให้ได้ อีกทั้ง ยังคาดหวังว่าประเทศสมาชิกฯ จะสามารถหาข้อสรุปร่วมที่ทุกฝ่ายพอใจในประเด็นการอนุมัติสนธิสัญญาว่าด้วยการอพยพเข้าเมืองและการขอลี้ภัยฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปในรอบการประชุมรัฐมนตรีเดือนมิถุนายน 2566
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน 22 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นการอนุมัติสถานะสมาชิกให้โรมาเนียและบัลแกเรีย เนื่องจากต้องใช้มติเป็นเอกฉันท์ จากการประชุมฯ ได้เพียงแค่การอนุมัติร่างสนธิสัญญาว่าด้วยการอพยพเข้าเมืองและการขอลี้ภัยโดยใช้หลักคะแนนเสียงข้างมาก (Qualified Majority) จึงต้องยกยอดการพิจารณาสถานะสมาชิกไปเจรจากันในวาระถัดไปในเดือนตุลาคม 2566
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางการเมืองที่สำคัญของโรมาเนียในการเป็นปัจจัยเสริมให้อียูรับเข้าเป็นสมาชิกฯ คือ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรมาเนียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคร่วมรัฐบาล (พรรค Social Democratic) ได้แก่ นาย Marcel Ciolacu โดยการตั้งรัฐบาลใหม่นั้นเป็นไปอย่างราบรื่น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโรมาเนียมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อขับเคลื่อนวาระสำคัญของประเทศ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟู (Recovery Fund) ของสหภาพยุโรป และทำให้การขาดดุลงบประมาณเหลือเพียงประมาณ 3% ของ GDP เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ในการเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน
ในกรณีของบัลแกเรียนั้น แม้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง และสามารถขึ้นมาเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ทว่าล่าสุด พรรค GERB และพรรค We Continue to Change สามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้แทนจากพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค จะสลับกันเป็นนายกรัฐมนตรีคนละ 9 เดือนโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของบัลแกเรีย คือนาย Nikolai Denkov จากพรรค We Continue the Change ที่จะดำรงตำแหน่งไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 ทั้งนี้ ทั้งสองพรรคกำหนดเป้าหมายหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประเทศกลับมามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการสั่งปลดอัยการสูงสุดที่มีคดีทุจริตหลายกรณี อันเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้ความสำคัญ นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังให้ความสนใจกับการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นและยูโรโซนให้สำเร็จเช่นเดียวกับโรมาเนีย
ในขั้นตอนสุดท้ายของการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป หรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 22 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2565 รัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์คัดค้านบัลแกเรีย ส่วนรัฐมนตรีออสเตรียคัดค้านทั้งโรมาเนียและบัลแกเรีย โดยให้เหตุผลว่าทั้งสองประเทศยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศ และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ปัญหาผู้อพยพและการทุจริตในสหภาพยุโรปยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ดังนั้น รัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียจึงเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศของตน พร้อมกับเดินสายเจรจาโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นอย่างต่อเนื่อง ให้ช่วยสนับสนุนประเทศของตนในเวทีการประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
ตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเป็นตำแหน่งหมุนเวียนทุกหกเดือน โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจะผลัดกันเป็นประธานฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2566 นี้ สเปนเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวต่อจากสวีเดน และจะส่งมอบต่อให้เบลเยี่ยมในวาระถัดไปช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ตำแหน่งดังกล่าวรับผิดชอบการดำเนินการของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป อันประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จาก 27 ประเทศสมาชิก ตามสาขาของนโยบายที่หารือ มีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติร่วมกับรัฐสภายุโรป และเป็นเวทีสำคัญในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ ตลอดจนดูแลนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ฉะนั้น ตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพฯ และมีอิทธิพลในการผลักดันการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ เห็นว่าสำคัญ
ข้อคิดเห็นของ สคต.
สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ามีความคืบหน้าสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์มองว่า ประเทศที่เคยโหวตไม่รับรองเริ่มมีท่าทีอ่อนลง หลังจากหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเจรจา อีกทั้ง โรมาเนียและบัลแกเรียได้แสดงความสำเร็จและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงได้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า สเปน ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2566 จะสามารถบรรจุวาระการพิจารณาสมาชิกภาพเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรียได้ทันในเดือนตุลาคม 2566 และสามารถผลักดันให้ประเทศต่างๆ รับรองการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรียได้ เนื่องจากสเปนมีท่าทีสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย
การขยายตัวของเชตเชงเก้น สอดคล้องกับเสาหลักที่หนึ่งของสหภาพยุโรป ด้านประชาคมยุโรป (European Communities) ในการเป็นตลาดเดียว (Single Market) ที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของปัจจัยสี่ประการ อันได้แก่ ประชากร สินค้า บริการ และทุนระหว่างประเทศ หากจำนวนสมาชิกเขตเชงเก้นเพิ่มขึ้น จะเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในการพัฒนาระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่โรมาเนียและบัลแกเรียจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นอื่นๆ อีกด้วย
ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับโรมาเนียและบัลแกเรียนั้น หากโรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นได้สำเร็จในปี 2567 จะเป็นประโยชน์กับไทยอย่างมาก อาทิ
- การขยายการเข้าถึงตลาด: การส่งออกสินค้า/บริการไทย มายังสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ใช้มาตรฐานการนำเข้าสินค้าและอัตราอากรขาเข้าเดียวกันทั้งสหภาพฯ ทำให้การเข้าถึงตลาดประเทศอื่นภายในสหภาพฯ สะดวกสำหรับผู้ที่เคยส่งออกหรือทำการค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว และเมื่อ FTA ไทย-สหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีส่งออกสินค้าที่เป็น 0% อันจะเป็นการเอื้อต่อการเข้าถึงทั้งตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 400 ล้านคน รวมถึงตลาดเกิดใหม่ อย่างโรมาเนียและบัลแกเรีย
- การกระจายคู่ค้า: เมื่อพิจารณาสถิติการค้าของไทยกับโรมาเนีย ในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้ากับโรมาเนียอยู่ที่ 12,841 ล้านบาท ขยายตัว 8.89% จากปี 2564 โดยไทยส่งออกไปโรมาเนียมูลค่า 8,703.85 ล้านบาท และนำเข้าจากโรมาเนียเป็นมูลค่า 4,137.15 ล้านบาท โดยรวมแล้วไทยได้ดุลการค้ากับโรมาเนีย 4,566.70 ล้านบาท สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังโรมาเนียเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก และวงจรพิมพ์ส่วนสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าว ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ส่วนบัลแกเรียนั้น ในปี 2565 ไทยมีมูลค่าการค้ากับบัลแกเรียอยู่ที่ 6,478.82 ล้านบาท ขยายตัว 17.91% จากปี 2564 โดยไทยส่งออกไปบัลแกเรียเป็นมูลค่า 3,547.32 ล้านบาท และนำเข้าจากบัลแกเรียเป็นมูลค่า 2,931.50 ล้านบาท โดยรวมแล้วไทยได้ดุลการค้ากับบัลแกเรีย 615.82 ล้านบาท สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังบัลแกเรียส่วนมากเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ หม้อแบตเตอรี่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมส่วนสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยส่งออกไปบัลแกเรีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
- การส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน: หากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับอียู จะส่งผลให้กำแพงภาษีในการทำการค้ากับโรมาเนียและบัลแกเรีย (ที่อยู่ในขั้นตอนการเข้าสู่เขตเชงเก้น) ส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังประเทศทั้งสองสะดวกขึ้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ คาดว่าการค้าสินค้าและบริการของไทยจะขยายตัวมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งจากการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การขนส่งสินค้าข้ามชายแดน และการกระจายสินค้าในภูมิภาค รวมถึง อาจทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคยุโรปด้วย
- การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ: การเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรียจะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเดินทางไปประเทศทั้งสองสะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถเดินทางได้ต่อเนื่องและลดขั้นตอนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การเข้าร่วม งานแสดงสินค้า/บริการที่สำคัญในภูมิภาค หรือแม้แต่การพบปะผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในท้องถิ่น อันจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสองฝั่ง
ที่มาของข้อมูล:
- bne Intellinews – “Bulgaria and Romania reportedly to be admitted to Schengen in two phases from October 2023” – https://www.intellinews.com/bulgaria-and-romania-reportedly-to-be-admitted-to-schengen-in-two-phases-from-october-2023-282447/?source=bulgaria
- ro – “Ambasadorul Spaniei la București: Este o prioritate a președinției UE să includem România în spațiul Schengen” – https://www.bursa.ro/ambasadorul-spaniei-la-bucuresti-este-o-prioritate-a-presedintiei-ue-sa-includem-romania-in-spatiul-schengen-08331050
- Euractiv – “Jourova says no more obstacles for Bulgaria, Romania Schengen accession” – https://www.euractiv.com/section/justice-home-affairs/news/jourova-says-no-more-obstacles-for-bulgaria-romania-schengen-accession/
- European Commission – “EU Trade Relationships with Thailand” – https://policy.trade.ec.europa.eu/eu-trade-relationships-country-and-region/countries-and-regions/thailand_en
- Ministry of Foreign Affairs of Romania – “Participation of the Minister of Foreign Affairs Luminița Odobescu at the Event in Bucharest Launching the Spanish Presidency of the Council of the EU” http://www.mae.ro/en/node/62315
- Politico – “Bulgaria finds government agreement with rotating PM” – https://www.politico.eu/article/bulgaria-finds-government-agreement-with-rotating-pm/
- Puls 24 – “Metsola will Österreich von Schengen-Erweiterung überzeugen” – https://www.puls24.at/news/politik/metsola-will-oesterreich-von-schengen-erweiterung-ueberzeugen/298240
- Radio Romania International – “A roundup of domestic and international news – July 3, 2023” – https://www.rri.ro/en_gb/july_3_2023-2686505
- Reuters – “Romanian president taps new premier to form government agreed power swap” – https://www.reuters.com/world/europe/romanian-president-taps-new-premier-form-government-agreed-power-swap-2023-06-13/
- Romania Insider – “EC recommends Romania Schengen membership” – https://www.romania-insider.com/ec-recommends-romania-schengen-membership-2023
- The 101 World – “EU Indo-Pacific Strategy: ASEAN & Thailand” – https://www.the101.world/eu-indo-pacific-strategy-asean-thailand/
- สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ – “รายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยประจําปี 2565 Thailand International Trade Yearbook 2022” http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/thailand_international_trade_yearbook_2022_rev_pdf
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ – http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)