หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อียิปต์ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 24%

อียิปต์ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 24%

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 หน่วยงานสถิติกลางของอียิปต์ หรือ Central Agency for Public Mobilization and Statistics (CAPMAS) ได้เผยแพร่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์ในเดือนเมษายน 2566 ว่า อียิปต์ขาดดุลการค้า 2.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 ที่อียิปต์ขาดดุลการค้า 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

มูลค่าการส่งออกของอียิปต์เดือนเมษายน 2566 ลดลงร้อยละ -44.9 สู่ระดับ 3.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 5.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากอียิปต์ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว ร้อยละ -75.6 ผลไม้สด ร้อยละ -58.8 น้ำมันดิบ ร้อยละ -48.2 และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ -34.1  ในขณะที่อียิปต์ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น เหล็กเส้น แท่ง เหลี่ยม และลวด ร้อยละ 568.8 พาสต้าและเครื่องปรุงต่างๆ ร้อยละ 35.6 หัวหอมสด ร้อยละ 65.8 และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.4

มูลค่าการนำเข้าของอียิปต์เดือนเมษายน 2566 ลดลงร้อยละ -27.4 สู่ระดับ 5.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 7.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากอียิปต์นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการลดลง ได้แก่ ข้าวสาลี ร้อยละ -1.4 และเคมีอินทรีย์และอนินทรีย์ ร้อยละ -2.1 ในขณะที่อียิปต์นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 13.8 ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 16.6 และแร่เหล็กและน้ำมันเข้มข้น ร้อยละ 5.2

ความคิดเห็น/ข้อสังเกต

ดุลการค้าอียิปต์ (ปี ค.ศ. 2000-2022)

  1. อียิปต์ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศมานานกว่าทศวรรษเนื่องจากปัจจัยสำคัญ อาทิ
  • อียิปต์พึ่งพาการนำเข้าในระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น ซึ่งรวมถึงเครื่องจักร เชื้อเพลิง และอาหาร
  • ความต้องการพลังงานในระดับสูง แม้ว่าอียิปต์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ แต่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการพลังงานในประเทศ สิ่งนี้นำไปสู่การนำเข้าเชื้อเพลิงจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ และการผลักดันไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคอาจเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นี้ในอนาคต
  • ความท้าทายของภาคการผลิตอียิปต์ เช่น ภัยธรรมชาติโดยเฉพาะภัยแล้ง การผลิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิมขาดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และกระบวนการแปรรูปสินค้าที่ยังเป็นรูปแบบครัวเรือน
  • สินค้าส่งออกของอียิปต์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ประสบปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหล่านี้ภายในประเทศ ซึ่งไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้
  • นโยบายด้านการคลัง โดยเฉพาะการตรึงค่าเงินปอนด์อียิปต์ให้มีมูลค่าสูงเกินความจริง ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้สินค้าส่งออกของอียิปต์มีราคาสูงขึ้นและสินค้าการนำเข้ามีราคาลดลง ไม่ตรงกับความเป็นจริง
  • ปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของประเทศในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจอียิปต์ในภาพรวม
  1. อย่างไรก็ดี รัฐบาลอียิปต์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบเพื่อแก้ไข โดยปัจจุบัน รัฐบาลอียิปต์ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ (localizing industry) ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การลดการนำเข้าและการส่งเสริมการผลิตในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลอียิปต์ยังเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ควบคู่กับไปการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อลดการขาดดุล ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การให้แรงจูงใจด้านภาษี การผ่อนปรนกฎระเบียบ การปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (การขยายคลองสุเอซ การพัฒนาเมืองหลวงแห่งการบริหารใหม่ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ซึ่งทำให้อียิปต์สามารถดึงดูด FDI เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสามารถกระตุ้นการสร้างงาน ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงจาก 8.5% เป็น 7.8%
  2. สำหรับภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศของอิยิปต์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติจ่ายค่าสินค้านำเข้านั้น ปัจจุบัน อียิปต์ยังมิได้ออกมาตราการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ แต่ในช่วง 5 เดือน ที่ผ่านมา อียิปต์จำเป็นต้องพิจารณาปล่อยสินค้านำเข้าออกจากท่าเรือออกบ้างประมาณ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดความผันผวนของราคาในตลาด โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทสินค้าจำเป็น เช่น ยา เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ และวัตถุดิบในการผลิต
  3. ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารโลกได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของอียิปต์ในช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน (FY) โดยลดจำนวนลงเหลือ 4% จาก 4.8% ในรายงาน Global Economic Prospects เดือนมิถุนายน 2566

https://www.capmas.gov.eg/Pages/ShowHmeNewsPDF.aspx?page_id=/Admin/News/PressRelease/202374134845_666e.pdf&Type=News

https://www.egyptindependent.com/egypt-sees-decrease-in-exports-imports-and-increase-in-trade-balance-deficit/

https://egyptianstreets.com/2023/07/04/egypt-releases-imported-food-medical-supplies-from-ports-to-stabilize-prices/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login