หน้าแรกTrade insight > อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด

อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด

ในปี 2566 อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดและมีเสถียรภาพมากที่สุดในเวียดนาม โดยสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (Việt Nam E-commerce Association: Vecom) ได้ระบุถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับโลกและในประเทศส่งผลกระทบต่อการค้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามยังรักษาการเติบโตได้ดี ซึ่งคาดการณ์ว่าอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม จะยังคงเติบโตในอัตรามากกว่าร้อยละ 25 ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 ขนาดธุรกรรมอีคอมเมิร์ซค้าปลีกมีมูลค่า 5,680 ล้านล้านด่อง (240,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คิดเป็นประมาณร้อยละ 8.5 ของยอดค้าปลีกสินค้าและบริการอุปโภคบริโภคทั้งหมด

ในปี 2565 สำหรับการขายปลีกสินค้า สัดส่วนของการขายปลีกสินค้าออนไลน์เมื่อเทียบกับยอดขายปลีกสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.2 ซึ่งสูงกว่าอัตราร้อยละ 6.7 ในปี 2564

สำนักงานสถิติทั่วไป (General Statistics Office: GSO) ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1,505 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริการที่พักและอาหารเติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 และภาคการค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 อีคอมเมิร์ซเติบโตมากกว่าร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นาย เหงียน หงอก ญ๊ง (Nguyễn Ngọc Dũng) ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนามกล่าวว่า ในบริบทของธุรกิจที่ประสบปัญหาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องจัดหาการแก้ไขทางการเงิน เพื่อช่วยให้ธุรกิจจัดการเงินทุนได้ดีขึ้น อีคอมเมิร์ซในเวียดนามยังคงมีขนาดเล็กประมาณเพียงร้อยละ 8.5 ของยอดค้าปลีกสินค้าและบริการอุปโภคบริโภคทั้งหมด การส่งเสริมนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม รวมถึงอาหารทะเล ที่สามารถขึ้นอยู่ในแพลตฟอร์อีคอมเมิร์ซได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

ในปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากเพิ่มการเลือกทำธุรกิจบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะ TikTok Shop จากการสำรวจของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมากกว่าร้อยละ 65 ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จำนวนพนักงานในธุรกิจใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นประจำ เช่น Zalo, Whatsapp, Viber และ Facebook Messenger เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง   การพัฒนาการขายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กถึอว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่ารูปแบบอื่นๆ เช่น เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นทางธุรกิจ รวมถึงอีคอมเมิร์ซ

ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นโดดเด่นที่สุดในโซเชียลเน็ตเวิร์กคือ การพัฒนาและเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ TikTok Shop ซึ่งดึงดูดผู้ค้าจำนวนมากทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กิจกรรมทางธุรกิจในอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Data Science Joint Stock Company ระบุว่า ยอดขายรวมของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 4 อันดับแรกรวมถึง Tiktok Shop มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Shopee และ Lazada เป็น 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุด แม้ว่าเปิดให้บริการตั้งแต่กลางปี ​​2565 แต่ Tiktok Shop ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเวียดนาม

   (จาก https://vietnamnet.vn/ )

ข้อคิดเห็น สคต

ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ เช่น การเงิน การท่องเที่ยว การธนาคาร เป็นต้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายแห่งในเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนอีคอมเมิร์ซจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เติบโตได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน 3 ประการในอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ การไลฟ์สด (live commerce) การตลาดแบบพันธมิตร และ ChatGPT โอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเวียดนามยังมีมาก เนื่องจาก คนใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คนเข้าถึง   สมาร์ทโฟนและใช้โซเชียลมีเดียขยายตัวมากขึ้น มีการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูง การจ่ายเงินออนไลน์มีหลายรูปแบบมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อค้าปลีกออนไลน์ขยายตัว ทำให้ธุรกิจอื่นได้รับประโยชน์และเติบโตไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า, บรรจุภัณฑ์, ขนส่ง และธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เช่น โฆษณาออนไลน์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ความงาม แฟชั่นผู้หญิงและเครื่องใช้ในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทาง e-Commerce ด้วยผู้ประกอบการที่ต้องการจำหน่ายสินค้ามายังเวียดนามผ่านช่องทาง e-Commerce ควรต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่ตลาด

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login