อิออนได้วางแผนขยายสาขาร้านจำหน่านยอาหารแช่แข็ง “@FROZEN” ในเขตกรุงโตเกียวและปริมณฑล เนื่องจากมีจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุ และสามีภรรยาที่ทำงานทั้งคู่เพิ่มขึ้น ทำให้อาหารแช่แข็งที่สะดวกต่อการรับประทานเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อปี 2565 อิออนได้เปิดตัวร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็งร้านแรกในจังหวัดจิบะ และมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงวางแผนเพิ่มสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
เดือนสิงหาคม 2565 บริษัทได้เปิดทำการร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็ง @FROZEN ร้านแรกในจังหวัดชิบะ (Aeon Style Shin-urayasu MONA) และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้เปิดสาขาที่ 2 ในเขตเมืองโยโกฮามา (Aeon Style Yokohama Seya) และเดือนสิงหาคม 2566 เปิดสาขาที่ 3 ในจังหวัดไซทามะ (Aeon Style Lake town) ปัจจุบันมี 3 สาขา
บริษัทเปิดสาขาแรกและได้พิจารณายอดจำหน่ายและเห็นความต้องการของผู้บริโภคจึงตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขาภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 โดยเดือนพฤศจิกายนบริษัทมีแผนเปิดสาขาที่ Aeon Style Yono จังหวัดไซทามะ และ สาขาที่ Aeon Style Shinagawa Seaside กรุงโตเกียว และในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแผนเปิดสาขาที่ Aeon Style Shinyurigaoka เมืองคาวาซากิ
ร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็ง “@FROZEN” มีการเปิดร้าน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. เปิดเป็นมุมอาหารแช่งแข็งภายในซูเปอร์มาร์เก็ต 2. เปิดเป็นร้านเดี่ยว ซึ่งทั้ง 2 แบบมีพื้นที่ร้านประมาณ 330 ตารางเมตร มีสินค้าแช่งแข็งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “EAT” รับประทานได้ทันทีเมื่อละลายความเย็นและคืนรูป “HEAT” รับประทานด้วยการอุ่น และ “COOK” รับประทานได้ด้วยวิธีทำง่ายๆ โดยร้านที่สาขา Lake Town มีจำนวนสินค้า 2,000 ชนิด มากกว่าอีก 2 สาขาประมาณร้อยละ 30 ที่มีสินค้ากว่า 1,500 ชนิด
สินค้าอาหารแช่แข็งที่วางจำหน่ายมีสินค้าที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เช่น สินค้าที่วางจำหน่ายเฉพาะท้องถิ่น สินค้าที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง เป็นต้น สินค้าเด่น เช่น เมนูอาหารฝรั่งเศสแบบ Full course ซึ่งมีทั้งอาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก และขนมหวาน มีทั้งหมด 24 ชนิด ราคาประมาณ 540 เยน – 2,138 เยน (ประมาณ 130 บาท – 520บาท) ต่อชนิด ซี่งสามารถลิ้มรสอาหาร Full course ได้ในราคาประมาณ 5,000 เยน (1,200 บาท) ต่อคน นอกจากนี้ ยังมีอาหารแช่แข็งจากร้านอาหารหรือร้านขนมชื่อดังในท้องถิ่นต่างๆอีกด้วย
อาหารปรุงสำเร็จไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง ฯลฯ นั้น เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จากการสำรวจรายจ่ายครัวเรือนที่มีสมาชิกครอบครัว 2 คนขึ้นไปพบว่า ปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีการใช้จ่ายค่าอาหารแช่แข็ง 7,817 เยน (ประมาณ 1,900 บาท) ต่อปี แต่ในปี 2565 มีการใช้จ่ายค่าอาหารแช่แข็ง 10,106 เยน (2,500 บาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 สาเหตุเนื่องจากมีจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุ และสามีภรรยาที่ทำงานทั้งคู่ เพิ่มขึ้น ทำให้อาหารที่รับประทานได้ง่ายอย่างอาหารแช่แข็งที่อุ่นแล้วรับประทานได้เลยจึงมีความต้องการสูง
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
อาหารแช่แข็งเป็นอาหารที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการรับประทาน และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและรสชาติที่อร่อย ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น เทรนด์อาหารแช่แข็งจึงเป็นอีกโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยซึ่งนอกจากอาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้บริโภคทั่วไปแล้ว อาหารแช่แข็งสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ มีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างมาก เพราะหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้น ผนวกกับการขาดแคลนแรงงานที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่รวมถึงอุตสาหกรรมร้านอาหารก็เช่นกัน ทำให้อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงสำเร็จเป็นที่ต้องการเพื่อลดเวลาและการใช้แรงงาน ซึ่งการขาดแคลนแรงงานนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ฉบับที่ 3 ประจำวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2566
ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC2157J0R20C23A9000000/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)