อิหร่านเปิดไฟเขียวนำเข้าปลาทูน่า
- สำนักข่าวท้องถิ่น Exim news รายงานว่า Mr. Masoud Bakhtiari หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง (the Iran Canning Industry Syndicate) ได้เปิดเผยเกี่ยวกับราคาปลากระป๋องว่า การนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าจะสามารถตรึงราคาและทำให้ราคาสินค้าปลาทูน่ากระป๋องในตลาดอิหร่านลดลง เนื่องจากปลาทูน่าเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิต โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาราคาปลาทูน่ากระป๋องในประเทศอิหร่านขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 3 เท่าตัว และในภาวะปัจจุบันวัตถุดิบขาดตลาดไม่สามารถจับปลาทูน่าในประเทศได้ โรงงานผู้ผลิตไม่สามารถผลิตปลาทูน่ากระป๋องตอบสนองความต้องการของตลาดได้
หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง เสริมว่า อุตสาหกรรมปลากระป๋องในตลาดอิหร่านกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤต โดยได้เสนอวิธีแก้ปัญหาสองประการ คือ 1) การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าปลาทูน่า 2) ระบุราคาปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตเป็นปลากระป๋อง โดยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ผลิต องค์กรประมงอิหร่าน กระทรวงเกษตรและญิฮาด และสมาคมอุตสาหกรรมกระป๋องอิหร่าน เป็นต้น เป็นผู้ควบคุมราคาวัตถุดิบในการผลิต
ราคาปลากระป๋องในตลาดโลกอยู่ที่ราคากระป๋องละประมาณ 2.5 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ราคาปลากระป๋องอิหร่านอยู่ที่กระป๋องละ 3-3.5 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลอิหร่านจำเป็นต้องออกระเบียบในการอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเงินตราต่างประเทศเพื่อให้การนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าง่ายขึ้นจากเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารกลาง (CBI) องค์กรศุลกากรแห่งชาติอิหร่าน องค์กรสัตวแพทย์อิหร่าน (IVO) และองค์กรขนส่งทางเรือ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากราคาวัตถุดิบแล้ว ราคากระป๋อง ราคาฝาปิด ค่าขนส่ง ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และก๊าซ ที่เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 30 ถึง 40 เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มราคาของปลาทูน่ากระป๋อง ตามสถิติของกรมประมงอิหร่านเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตปลากระป๋องของอิหร่านอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านกระป๋องต่อปี ซึ่งปัจจุบันอุปสงค์และความต้องการของตลาดลดลงร้อยละ 50 เป็นผลให้การผลิตปลาทูน่ากระป๋องก็ลดลงตามไปด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปลาทูน่ากระป๋องในตลาดอิหร่าน จำเป็นต้องนำปลากระป๋องมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 20 นาที ก่อนนำมาบริโภค เพื่อกำจัดสารพิษที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Clostridium botulinum ซึ่งแบคทีเรียนี้ไม่ได้นำไปสู่การเจ็บป่วยและคร่าชีวิตโดยตรง แต่สารพิษที่เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียนี้เป็นสาเหตุเพียงพอที่จะคร่าชีวิตผู้คนได้ถึง 10 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคชาวอิหร่านจะต้มปลาทูน่ากระป๋องในน้ำเดือดก่อนบริโภคทุกครั้ง
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อิหร่านเปิดไฟเขียวนำเข้าปลาทูน่า