- สำนักข่าวท้องถิ่น Tasnim รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียเปิดเผยข้อมูลสถิติการนำเข้าข้าวของอิหร่านจากอินเดียในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 2023) ลดลงร้อยละ 40 โดยในช่วงที่ผ่านมาอิหร่านนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นมูลค่า 544 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปีก่อนหน้าในช่วงเดียวกันที่มีการนำเข้ามูลค่า 913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าการนำเข้าข้าวของอิหร่านมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด กรมศุลกากรอิหร่าน The Islamic Republic of Iran Customs Administration (IRICA) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปีอิหร่านปัจจุบัน (21 มี.ค. – 20 ส.ค. 2023) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 43 และร้อยละ 44 ตามลำดับ โดยอิหร่านนำเข้าข้าวในปริมาณ 536,793 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 633 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย ปากีสถาน อิรัก ไต้หวัน เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดนำเข้าข้าวรายสำคัญของอิหร่านได้แก่ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย โดยมีข้าว บาสมาติเป็นรายการข้าวที่นำเข้ามากที่สุด
นาย Amir Talebi รองประธานฝ่ายการค้าต่างประเทศของบริษัทGTC (Government Trading Corporation) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเ เปิดเผยว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวของอิหร่านที่ลดลงมีสาเหตุอันเนื่องมาจากในปีที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คิดเป็นยอดการนาเข้าสูงสุดที่สูงถึงสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณข้าวในสต้อกยังคงเหลืออยู่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เพียงพอสาหรับการบริโภค รวมถึงการรักษาสมดุลปริมาณข้าวในคลังสำรองของทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย กอปรกับตั้งแต่เดือน 21 ก.ค. – 20 พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศ รัฐบาลอิหร่านสั่งห้ามนำเข้าข้าวตามฤดูกาลเป็นปกติ เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรและผลผลิตภายในประเทศ
อิหร่านมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 803,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 5,018,750 ไร่ โดยในแต่ละปีจะให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยที่ประมาณ 2.50-2.95 ล้านตัน คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.4 ของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของโลก ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า อย่างไรก็ตามปริมาณโควต้าการนำเข้าในแต่ละปีมีปริมาณที่ไม่เหมือนกัน มีปัจจัยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลและเหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปัจจุบันยังเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างสองฝ่ายว่าการนำเข้าข้าวคุ้มค่ากว่าการที่อิหร่านจะผลิตข้าวเองและไม่พึ่งพาการนำเข้า ซึ่งจะเป็นการทำลายทรัพยากรน้ำจากการเพาะปลูกข้าวหรือพืชที่ต้องการน้ำมากหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติ
ความเห็นสำนักงาน
ราคาข้าวที่ผลิตได้ในตลาดอิหร่านมีราคาสูง ในขณะที่ราคาข้าวนำเข้าจะมีราคาต่ำกว่า ทำให้ผู้บริโภคชาวอิหร่านส่วนใหญ่หันมาบริโภคข้าวนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมา เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวราคาถูกจากต่างประเทศ และกระจายให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง เพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวสามารถซื้อหามาบริโภคในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ยังไม่มีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยในปีปัจจุบัน
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)