อิหร่านต้องการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง
หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง (the Iran Canning Industry Syndicate) ได้เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีปัจจุบัน (21 มี.ค. – 20 ก.ย. 2567) อิหร่านมีอุปสงค์นำเข้าปลาทูน่าจำนวน 35,000 ตัน เพื่อนำมาผลิตทูน่ากระป๋อง ตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งกรมประมงอิหร่านได้ยืนเรื่องต่อกระทรวงเกษตรและจีฮัดอิหร่าน (Ministry of Agriculture Jihad) ให้อำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาล (1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 148,077 เรียล) ให้กับผู้นำเข้า (อัตราเรทนีมาจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน) ซึ่งทางกระทรวงมีท่าทีไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว
Mr. Masoud Bakhtiari หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง แจ้งว่า อิหร่านเริ่มเข้าใกล้สู่ฤดูกาลห้ามจับปลา ซี่งจะเริ่มประมาณปลายเดือนมิถุนายน นี้ ซึ่งชาวประมงจะสามารถจับปลาได้อีกในช่วงปลายเดือนตุลาคม แต่ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดมรสุมมากทางภาคใต้ของประเทศ ทำให้การประมงมีข้อจำกัด ชาวประมงหาวัตถุดิบมาส่งโรงงานผลิตทูน่ากระป๋องได้น้อยลง ซึ่งผู้ผลิตทูน่ากระป๋องจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบได้จากการนำเข้า
ในแต่ละปี อิหร่านสามารถผลิตทูน่ากระป๋องได้เฉลี่ย 250 ถึง 300 ล้านกระป๋อง ในขณะที่อิหร่านมีความสามารถในผลิต 900 ล้านกระป๋องต่อปี ตามสถิติของกรมประมงอิหร่านเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตปลากระป๋องของอิหร่านอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านกระป๋องต่อปี ซึ่งปัจจุบันอุปสงค์และความต้องการของตลาดลดลงร้อยละ 50 เนื่องจากราคาและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้การผลิตปลาทูน่ากระป๋องก็ลดลงตามไปด้วย Mr. Masoud Bakhtiari หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง เปิดเผยว่า อุปสรรคที่เกิดจากการคว่ำบาตรทำให้การนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องของอิหร่านจากเดิม 40,000-50,000 ตัน ลดลงไปจากเดิมเหลือเพียง 20,000 ตัน
การบริโภคปลาทูน่ากระป๋องได้รับความนิยมในประเทศอิหร่าน ได้กลายเป็นอาหารของบุคคลทุกเพศ ทุกวัยโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ประชาชนระดับกลาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยใช้สามารถบริโภคแทนเนื้อไก่ เนื้อวัว ที่มีราคาสูงได้ นอกจากนี้ทูน่ากระป๋องมีข้อดีหลายประการ อาทิเช่น ใช้งานง่าย อายุการเก็บรักษายาวนาน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำไปประกอบอาหารและนำติดตัวในยามเดินทางได้ด้วย
ทั้งนี้ราคาปลาทูน่ากระป๋องในตลาดอิหร่านตั้งแต่ปี 2012-2024 สรุปได้ดังนี้
ปี 2012-2016 ราคากระป๋องละ 50,000 -65,000 เรียล
ปี 2018 ราคากระป๋องละ 90,000-100,000 เรียล
ปี 2019 ราคากระป๋องละ 150,000-190,000 เรียล
ปี 2021 ราคากระป๋องละ 200,000-380,000 เรียล
ปี 2023 ราคากระป๋องละ 750,000 เรียล
และบางช่วงขยับสูงขึ้นถึง 940,300 เรียล (3-3.5 เหรียญสหรัฐฯ) ทำให้ปลาทูน่ากระป๋องเริ่มเป็นสินค้าหรูหรา และเริ่มหายไปจากตะกร้าบริโภคของครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่มีรายได้น้อย
จากการวิเคราะห์ราคาทูน่ากระป๋องในอิหร่านพบว่ามีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา และราคาเริ่มก้าวกระโดดในปี 2018 ซึ่งเทียบกับราคาปัจจุบันกระป๋องละ 875,000-94,300 เรียล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1,800 ซึ่งหากวัตถุดิบยังคงขาดแคลนต่อไป ราคาทูน่าอาจจะขยับตัวสูงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวขยับตัวสูงขึ้นเพราะ 1) ปลาทูน่ากระป๋องถูกยกเลิกออกจากบัญชีสินค้าที่ได้รับอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาล (NIMA Rate) 2) อุปสรรคด้านการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ปลาทูน่า และ 3) อุปสรรคด้านเทคโนโลยีและการนำเข้ากระป๋องที่ใช้บรรจุปลา และฝากระป๋องแบบเปิดง่าย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อิหร่านต้องการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง