หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > อินเดียออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD)ต่อกระจกพลังงานแสงอาทิตย์นำเข้าจากจีนและเวียดนาม

อินเดียออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD)ต่อกระจกพลังงานแสงอาทิตย์นำเข้าจากจีนและเวียดนาม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นการชั่วคราวสำหรับการนำเข้ากระจกพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม การดำเนินการครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยอ้างอิงตามประกาศของหน่วยงาน Directorate General Trade Remedies (DGTR) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย เพื่อจำกัดวงจรธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมและสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ


สินค้าที่ได้รับผลกระทบและต้องผ่านการตรวจสอบ คือ สินค้าในกลุ่มกระจกนิรภัยทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบผิว (Textured Tempered Glass) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการทำแผงโซล่าเชลล์และอุปกรณ์ที่ได้ประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ โดยสมาคมผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมพลังงานแสงอาทิตย์ (SAMA) ประกอบด้วยบริษัท Borosil Renewables Ltd. และสมาชิก 5 ราย เป็นผู้เริ่มขั้นตอนการไต่สวนโดยอ้างว่า สินค้านำเข้าที่มีราคาต้นทุนต่ำก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตภายในประเทศ การไต่สวนของหน่วยงาน DGTR ยืนยันในข้ออ้างดังกล่าวและระบุว่า อุตสาหกรรมในประเทศสามารถตอบสนองความต้องการของสินค้าชนิดนี้ได้ถึงร้อยละ 84 และคุณภาพของกระจกที่ผลิตในประเทศเปรียบเทียบกับคุณภาพของสินค้านำเข้ายังมีความใกล้เคียงกัน
การเรียกเก็บอากรปกป้องนี้จะถูกกำหนดขึ้นตามอัตราความเสียหายที่ได้รับ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม การแจ้งของกระทรวงการคลังระบุว่า ภาษีนี้จะต้องชำระเป็นเงินสกุลรูปีของอินเดีย และมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers: IPPs) ได้เรียกร้องให้การเรียกเก็บภาษีนี้ถูกเลื่อนออกไปจนกว่าการผลิตภายในประเทศจะสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มที่ นักพัฒนาหลายรายได้พิจารณาการใช้เงื่อนไข ‘Change in Law’ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในเรื่องของการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลสำหรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ผู้ผลิตในอินเดีย อาทิ บริษัท Borosil Renewables, Gobind Glass, Triveni Renewables, Vishakha Glass, และ Gold Plus Float Glass คาดว่าจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการออกมาตรการในครั้งนี้ หน่วยงาน DGTR ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเรียกเก็ยภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของกระจกโซลาร์เซลล์ในตลาดอินเดีย และขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องกับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
2. จากประกาศกระทรวงการคลัง เลขที่ No. 26/2024-CUSTOMS (ADD) ได้ระบุการจัดเก็บอากรปกป้องสำหรับสินค้ากระจก “Textured Toughened (Tempered) Coated and Uncoated Glass” (พิกัด 70071900) ต่อบริษัทผู้ผลิตจากจีนไม่ต่ำกว่า 8 รายในอัตราระหว่าง 673-677 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน (MT) และผู้ผลิตจากเวียดนาม ในอัตราเริ่มต้นที่ 565 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน (MT)

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. ตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น: เมื่อจีนและเวียดนามต้องเผชิญกับมาตรการดังกล่าว หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้วผู้ผลิตไทยอาจมีโอกาสในการจัดหากระจกโซลาร์เซลล์หรือวัสดุอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบและใช้งานโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดีย
2. โอกาสในการกระจายตลาด: เนื่องจากอินเดียส่งเสริมการผลิตกระจกโซลาร์เซลล์ในประเทศ ผู้ส่งออกจากไทยอาจพิจารณาจัดหาวัสดุหรืออุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้องในระบบพลังงานหมุนเวียน
3. การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น: ประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาจเข้ามาแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดพลังงานหมุนเวียนของอินเดีย ทำให้การแข่งขันสำหรับผู้ส่งออกจากไทยทวีความเข้มข้นขึ้น
ข้อคิดเห็น
การที่อินเดียได้ออกมาตราการและกำหนดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้ากระจกพลังงานแสงอาทิตย์จากจีนและเวียดนาม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและสนับสนุนภาคการผลิตในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีข้อกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาของแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจและระยะเวลาการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง จากสถิติข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567 อินเดียนำเข้ากระจกนิรภัยทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบผิว (พิกัด 70071900) มูลค่า 459.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 57.04 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดนำเข้าสูงสุด ได้แก่ จีน (ร้อยละ 90.80) เวียดนาม (5.99) และ ฮ่องกง (1.14) ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทย เป็นตลาดนำเข้าอันดับที่ 8 มูลค่า 611,903 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.13 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระจกที่เป็นส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์ อาจพิจารณาจัดหาวัสดุหรืออุปกรณ์เสริมที่มีคุณภาพเหมาะสมทั้งด้านการแข่งขันด้านราคาและการใช้งานที่มีความจำเฉพาะ เพราะด้วยสัดส่วนของตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไทยยังมีโอกาสอีกมากในการเจาะตลาดอินเดียทั้งโครงการของภาครัฐหรือภาคครัวเรือน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา: 1.https://www.energetica-india.net/news/india-imposes-anti-dumping-duty-on-solar-glass-imports-from-china-and-vietnam
2.https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/india-initiates-anti-dumping-probe-into-imports-of-solar-glass-from-china-vietnam/articleshow/107743688.cms?from=mdr
3.https://www.dgtr.gov.in/sites/default/files/TTG%20NCV.pdf
4. file:///C:/Users/ditp/Downloads/CkF1QNJL35f7PkRto0tSniOdrOIQKZxNQPdzDhNp9ognl9Qn0pPXE0U.pdf

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อินเดียออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD)ต่อกระจกพลังงานแสงอาทิตย์นำเข้าจากจีนและเวียดนาม

Login