หน้าแรกTrade insight > อินเดียยังคงเป็นผู้นําเข้าถ่านโค้กอันดับต้นของโลก

อินเดียยังคงเป็นผู้นําเข้าถ่านโค้กอันดับต้นของโลก

แม้ว่าอินเดียจะยังเป็นผู้นําเข้าถ่านโค้กลำดับต้นของโลก แต่ด้วยภาวะราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากต้นทุนของการผลิตยังคงเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลต่อวงการธุรกิจไม่น้อย

            ถ่านโค้ก เป็นวัตถุดิบสําคัญที่ใช้ในการผลิตเหล็กผ่านกระบวนหลอมจากเตา ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กของอินเดียกําลังค้นหาวิธีที่ยังยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่ออุตสาหกรรมเหล็กที่มีการใช้ถ่านโค้กโดยพยายามหาวิธีที่เหมาะสมประกอบกับนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต นาย Dilip Oommen  ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กอินเดีย หรือ ISA กล่าว อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้นี้ อินเดียจะยังคงเป็นประเทศผู้นําเข้าถ่านโค้กอันดับต้นของตลาด และภาคอุตสาหกรรมเหล็กมีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาต้นทุนจากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมากที่สุด

          ในช่วงประชุมสุดยอด “ISA Coking Coal Summit” ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้ อินเดียจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการส่งออกถ่านโค้กที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากความต้องการเหล็กภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง จีน หันกลับมาพึ่งพาการใช้ทรัพยากรในประเทศทดแทน”            เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า อินเดียยังคงครองความเป็นผู้นําในการนำเข้าถ่านโค้ก เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กอินเดียส่วนใหญ่ได้วางแผนกําลังการผลิตใหม่ไว้ล่วงหน้าแล้ว และอินเดียยังเป็นผู้นําเข้าถ่านหินรายใหญ่ที่สุดซึ่งรวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการฉีดถ่านหินบดหรือ PCI ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติได้ระบุว่า มูลค่าการนําเข้าถ่านโค้กต่อปีอยู่ระหว่าง 70-75 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโมซัมบิก นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบัน SteelMint India ยังระบุเพิ่มเติมว่า ราคาถ่านโค้กได้ขยับขึ้นประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบันมีราคาซื้อ-ขายที่ 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

      ในปี 2565 อินเดียเป็นหนึ่งในผู้นําเข้าถ่านโค้กรายใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าการนำเข้าถ่านโค้กจำนวน 69 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนการขนส่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีก่อน ในขณะจีนอยู่อันดับสองประเทศผู้นําเข้าถ่านหินโค้กด้วยจำนวน 63.8 ล้านตัน  เพิ่มขึ้นร้อยละ 17  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในภาพรวมปริมาณการค้าถ่านหินโค้กทั่วโลกคิดเป็นจำนวน 319 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา

      ถ่านโค้กเป็นวัตถุดิบที่สําคัญสําหรับการผลิตเหล็ก โดยอินเดียเป็นผู้ผลิตเหล็กดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก ด้วยกำลังการผลิตจำนวน 124 ล้านตันในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6% จากปีก่อนหน้า  การที่อินเดียสามารถกลายเป็นผู้ผลิตรายสำคัญได้นั้นเนื่องจากมีปัจจัยที่เอื้อต่อเสถียรภาพความต้องการของถ่านโค้กในอินเดีย ได้แก่ อุปสงค์ของเหล็กในประเทศ ภาวะแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากทั่วโลก และเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีนําเข้า นอกจากนั้น การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อินเดีย-ออสเตรเลียจะสามารถรักษาเสถียรภาพการนําเข้าถ่านโค้กในปี 2566  ได้เนื่องจากมีเงื่อนไขการนำเข้าถ่านหินที่ปลอดภาษี

      ประเทศออสเตรเลียยังคงเป็นซัพพลายเออร์ถ่านโค้กรายหลักของอินเดีย แม้ว่าจะต้องประสบกับภาวะแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ออสเตรเลียมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากทั่วโลกลดลงถึงร้อยละ 8  สำหรับด้านการขนส่งสินค้า (Shipment) ในปี 2022 ออสเตรเลียส่งออกถ่านโค้กไปยังอินเดีย จำนวน 43.7 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 19 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ รัสเซียซึ่งเป็นประเทศซัพพลายเออร์ถ่านหินไปยังยุโรปและบราซิลยังไม่ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ส่งออกถ่านหินรายสำคัญเมื่อปี 2565

      นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสนใจว่าโรงงานเหล็กของอินเดียมีการเพิ่มกำลังการจัดหาวัตถุดิบถ่านโค้กจากประเทศรัสเซียอย่างมีนัยสําคัญ โดยมีการจัดส่งเพิ่มขึ้นถึง 9.7 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 154  ทําให้รัสเซียกลายเป็นประเทศซัพพลายเออร์รายใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากออสเตรเลียในปี 2565 ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาจัดอยู่อันดับที่สามด้วยปริมาณการจัดส่งจำนวน 7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 126 จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีประเทศโมซัมบิกและอินโดนีเซียที่ส่งออกวัตถุดิบมายังอินเดียจำนวน 2.9 ล้านตันและ 2.7 ล้านตันตามลําดับ

ผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย:

  • อุปสงค์ของถ่านโค้กไทยที่เพิ่มขึ้น: ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถ่านโค้กชั้นนําของโลก เมื่อความต้องการถ่านหินโค้กมีเพิ่มขึ้นในอินเดีย จะส่งผลต่อความต้องการถ่านหินโค้กของไทยที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
  • ราคาถ่านโค้กไทยสูงขึ้น: เมื่อความต้องการถ่านหินโค้กในตลาดเพิ่มขึ้น กลไกตลาดจะส่งผลให้ราคาถ่านหินโค้กปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ราคาที่ปรับสูงขึ้นจะเป็นการเพิ่มผลกําไรต่อผู้ผลิตถ่านหินโค้กไทย

      การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ส่งออกไทย

  • มุ่งเน้นการผลิตถ่านโค้กที่มีคุณภาพสูง: ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสําคัญกับการผลิตถ่านโค้กที่ตรงตามความต้องการของผู้ผลิตเหล็กอินเดียซึ่งอาจมีความจำเพาะตามคำสั่งซื้อ
  • ส่งเสริมเละกระชับความสัมพันธ์กับผู้ผลิตเหล็กของอินเดีย: ผู้ส่งออกไทยควรเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ผลิตเหล็กอินเดียเพื่อให้สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ระยะยาวและมีโอกาสทางการค้าสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆได้
  • การพิจารณาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์: ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาด้านการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการขนส่งถ่านหินโค้กไปยังอินเดีย ซึ่งทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาท่าเรือ รางรถไฟและคลังเก็บสินค้าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสําหรับการจัดการถ่านโค้ก
  • ข้อคิดเห็น
  1. ในปี 2566 (เดือนมกราคม-กันยายน) ตลาดอินเดียเป็นตลาดส่งออก อันดับที่ 3 ของสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (รองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น) ไทยส่งออกสินค้าสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปยังอินเดีย มีมูลค่า 13,977.55 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.86 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.10 เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ลำดับที่ 5 รองจากเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และ อัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ การพิจารณาจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปยังอินเดีย การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อประชาสัมพันฺธ์ศักยภาพการผลิตของถ่านโค้กไทยที่มีคุณภาพ และการแนะนำหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกไทย กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสพบปะผู้ประกอบการอินเดียเพื่อสานความสัมพันธ์ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาด และพัฒนาสู่การเป็นคู่ค้า/พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในอนาคต อีกทั้งเป็นการดึงดูดผู้ซื้อรายใหม่จากอินเดียและประเทศอื่นๆ ที่มีความสนใจในสินค้าถ่านโค้กเมื่อผู้ซื้อได้มีโอกาสพบปะหารือในงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดการซื้อ-ขายและขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไป

2.การใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีไทย – อินเดีย (TIFTA) ไทยและอินเดียได้ตกลงลดภาษีในรายการสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme) โดยปัจจุบันมีสินค้าได้รับสิทธิฯ จำนวน 83 รายการ ที่มีภาษีเป็น 0 แล้วทั้งหมด ซึ่งในปี 2566 (ม.ค.- ส.ค.) มีการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ไทย-อินเดีย มูลค่า 318.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 11.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่า 358.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 37.51 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ โดยสินค้าที่มีมูลค้าการใช้สิทธิ TIFTA สูง ได้แก่ โพลิคาร์บอเนต(HS 390740) เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง (HS 841510) โพลิอะไมด์ชนิด
ต่างๆ (HS 390810) และของอื่นๆ ทำด้วยลวดเหล็กหรือลวดเหล็กกล้า (HS 732690) ทั้งนี้ สคต. มุมไบเห็นว่า การแนะนำข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึกแก่ผู้ส่งออกไทย เกี่ยวกับตลาดถ่านหินโค้กของอินเดียรวมถึง ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการ ปัจจัยด้านราคาและกฎระเบียบ จะมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในการวางแผนทางการตลาดและธุรกิจต่อไป ผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตถ่านโค้กซึ่งใช้เป็นวัตุดิบในอุตสาหกรรมเหล็ก /ลวดเหล็ก สามารถเข้าไปศึกษาและใช้ประโยชน์จากสิทธิตกลงเขตการค้าเสรีไทย – อินเดียเพื่อขยายมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ไทย-อินเดียได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา:

1 https://www.deccanherald.com/business/india-to-remain-top-importer-of-coking-coal-rising-prices-of-raw-material-a-concern-isa-president-oommen-2758710

2https://www.thehindubusinessline.com/economy/india-among-the-largest-coking-coal-importers-in-2022/article66568656.e

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อินเดียยังคงเป็นผู้นําเข้าถ่านโค้กอันดับต้นของโลก

Login