รัฐบาลอินเดียเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ว่า ได้ผ่อนคลายการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติแก่ 7 ประเทศ ได้แก่ เนปาล แคเมอรูน โกตดิวัวร์ กินี มาเลเซีย และเซเชลส์ และฟิลิปปินส์ โดยได้ให้โควตาปริมาณ 295,000 เมตริกตันแก่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดท่ามกลางกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ อินเดียนับเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวขาวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยได้สั่งระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปทานในประเทศทำให้สร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลกพรุ่งสูงขึ้น เนื่องจากข้าวขาวเป็นพันธุ์ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในตลาดโลก ในขณะที่บาสมาตีเป็นพันธุ์อินเดียในประเทศที่ต้องการ ทั้งนี้ โดยทั่วไปฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เนื่องจากข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคทำให้ข้าวของอาเซียนได้เปรียบด้านภาษี อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤตภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องยอมรับการนำเข้าข้าวขาวที่ไม่ใช่จากในอาเซียนด้วยเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
นาย Raul Q. Montemayor ผู้จัดการของสหพันธ์เกษตรกรเสรี กล่าวว่าการจัดสรรโควตาอนุญาตให้ส่งออกข้าวของอินเดียไม่ได้เป็นการรับประกันการเข้าถึงข้าวของอินเดีย เนื่องจากเห็นว่าการตัดสินใจนำเข้าขึ้นอยู่กับราคาและคุณภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ไม่ได้ซื้อข้าวจากอินเดียแม้ว่าจะมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือของอุปทาน นอกจากนี้ นาย Raul เห็นว่าความต้องการข้าวนำเข้าของฟิลิปปินส์อยู่ระหว่าง 2.5 – 3 ล้านตัน ซึ่งปริมาณที่ได้รับจัดสรรจากอินเดียไม่ได้เป็นปริมาณที่สำคัญมากนัก แม้ว่าจะนำเข้าตามโควตาทั้งหมดก็ตาม ทั้งนี้ ปลัดอาวุโสด้านการเกษตร Domingo F. Panganiban กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาว่าฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องขอต่อรัฐบาลอินเดียให้อนุญาตส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ตามหลักมนุษยธรรมขณะที่นาย Leocadio S. Sebastian ปลัดกระทรวงเกษตร กล่าวว่าการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ในปีนี้อาจลดลงเหลือ 3.1 ล้านตัน ท่ามกลางราคาข้าวโลกที่สูงขึ้น ขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดว่าฟิลิปปินส์จะเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้ โดยมีการนำเข้าประมาณ 3.8 ล้านตัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2566
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
1. ปัจจุบันฟิลิปปินส์เผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายหลายประการในด้านอุปทานข้าวในประเทศ ทั้งสถานการณ์ความผันผวนของตลาดข้าวโลกหลังอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติกส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมาก ภาวะเงินเฟ้อ ความกังวลต่อผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่อาจะทำให้การผลิตข้าวในประเทศลดลง รวมทั้งยังประสบกับภัยพิบัติจากการพัดถล่มของพายุไต้ฝุ่นหลายลูกทำให้คาดการณ์ว่าจะมีสต็อกข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ การกลับมาอนุญาตส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดียแก่ฟิลิปปินส์เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับฟิลิปปินส์ในแง่ของการเสริมอุปทานข้าวในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากเหนือจากข้าวที่ได้จากฤดูการเก็บเกี่ยวในขณะนี้ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อในสินค้าข้าวที่อยู่ในระดับสูงได้ นอกจากนี้ คาดว่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง
2. อินเดียไม่ใช่ตลาดนำเข้าข้าวหลักของฟิลิปปินส์ โดยในปี 2565 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากอินเดียปริมาณ 23,145 ตัน คิดเป็นเพียงร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งหมด และในปี 2566 (ม.ค. – ก.ค.) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากอินเดียปริมาณ 19,506 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.96 ของการนำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ตามคาดว่าการที่อินเดียอนุญาตจัดสรรโควตาให้ส่งออกข้าวขาวไปยังฟิลิปปินส์ได้ อาจส่งผลให้ข้าวอินเดียสามารถเข้ามาแข่งขันและ มีการนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป แต่จะยังคงเป็นปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับความต้องการนำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์จากอินเดียค่อนข้างมีความท้าทายด้านการขนส่งซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประกอบกับผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือของอุปทานข้าวของอินเดียทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดข้าวฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนการรองรับกับการส่งออกที่เหมาะสมต่อไป
———————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
20 ตุลาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)