ธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่า 50 GW เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีส่วนช่วยในกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนภาพรวมที่ 125 GW ในปี 2567 แต่อินเดียยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น 1) การพึ่งพาการนำเข้าโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ อินเวอร์เตอร์ และวัตถุดิบ (โพลีซิลิคอน) 2) เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและกำลังการผลิตที่มีอย่างจำกัดในประเทศ และ 3) ความล่าช้าในการจัดตั้งโรงงานผลิตขนาดใหญ่ อนึ่ง อุตสาหกรรมในประเทศยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ 1)โมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ (ประมาณ 75% เป็นการนำเข้าจากจีน) 2) อินเวอร์เตอร์ นำเข้าประมาณ 85% และ 3) วัตถุดิบ จำพวกโพลีซิลิคอน ต้องนำเข้าประมาณ 100%
อินเดียออกมาตรการเพื่อยับยั้งการไหลทะลักของสินค้านำเข้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ มาตรการที่กล่าวถึงได้แก่ ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การกำหนดให้ใช้โมดูลที่ผลิตในประเทศสำหรับโครงการของรัฐและนโยบายการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น แต่ธุรกิจนี้ในอินเดียยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศที่จำกัดและความท้าทายด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี มาตรการจำกัดการนำเข้าพุ่งเป้าไปที่จีน ซึ่งเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์และส่วนประกอบของตลาดโลก จึงเกิดเป็นความท้าทายต่อการเติบโตของภาคพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย แต่ก็เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ สามารถเข้ามาแสดงศักยภาพในตลาดและเติมเต็มช่องว่างด้านอุปทานได้เช่นกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ระหว่างปี 2565 – 2567 ความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียและการพึ่งพาการนำเข้ายังระบุให้เห็นถึงความแปรผันของการเติบโตด้านความสามารถในการผลิตภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันประเทศจะยังคงพึ่งพาการนำเข้า แม้ว่าอัตราส่วนที่ต้องพึ่งพาจะลดลงในแต่ละปี แต่ก็ยังมีการนำเข้าที่สูงอยู่
ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย
1. ด้วยศักยภาพและความสามารถในการผลิตอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนของผู้ประกอบการไทยที่กำลังเติบโต จะทำให้สินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียได้ไม่ยากในฐานะซัพพลายเออร์ทางเลือกของส่วนประกอบที่ใช้ในสินค้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ แผงโซล่าเซลล์และโมดูล การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นไปตามมาตรฐานของอินเดีย อินเวอร์เตอร์และระบบจัดเก็บพลังงาน ด้วยการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้มากขึ้น ความต้องการระบบจัดเก็บพลังงานและวงจรที่มีความเสถียรกำลังเป็นที่ต้องการในตลาด รวมถึงวัตถุดิบและส่วนประกอบ ประเทศไทยสามารถจัดหาวัตถุดิบ เช่น โพลีซิลิคอน หรือสินค้าต่อยอดการผลิต เช่น โซล่าเซลล์และซิลิคอนเวเฟอร์
2. ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: ผู้ส่งออกไทยที่มีประสบการณ์และสนใจแสวงหาโอกาสด้านพลังงานหมุนเวียนในตลาดอินเดีย อาจพิจารณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น อุปกรณ์หรือบริการสำหรับการขยายและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อคิดเห็น
1. ความพยายามของอินเดียในการลดการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลอินเดียได้จำกัดการนำเข้าแผงโซล่าเซลล์ภายหลังที่ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศจนถึง 31 มีนาคม 2567 เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตเเละตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยภาพรวมของมาตรการที่ออกมาแต่ละครั้งมุ่งไปที่วัตถุประสงค์เดียวกันคือการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่น เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศเพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมภายในประเทศยังคงต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศมากกว่า 50 % โดยตลาดนำเข้าที่ครองสัดส่วนสินค้ามากที่สุดได้แก่ จีน (70 %) มาเลเซีย (5%) เวียดนาม (15%) และไทย (2%) และ ตลาดอื่นๆ (8%)
2. มูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2566 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2565 (2,451.01 ล้านเหรียญสหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา (75 %) เวียดนาม (11%) อินเดีย (5 %) และจีน (4 %) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ พัฒนาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นผู้จัดหาที่เชื่อถือได้สำหรับตลาดพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนที่กว้างขึ้นของอินเดีย การสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตในอินเดียเพื่อขยายสินค้าทั้งด้านโซลาร์เซลล์หรือสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเสนอราคาที่แข่งขันได้ และการเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลอินเดีย ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล อันจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อินเดียชะลอการนำเข้าสินค้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน แต่อุตสาหกรรมในประเทศยังคงความต้องการ