การแข่งขันด้านการค้าอาวุธของประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS (กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันประกอบด้วย Brazil Russia India China และ South Africa) ได้ขยายออกมายังกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออกแล้ว ตามข้อมูลการถ่ายโอนอาวุธของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่บ่งชี้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556 ประเทศยูกันดา และประเทศรวันดา เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่จากรัสเซีย ในขณะที่ประเทศเอธิโอเปียและประเทศแทนซาเนียสั่งซื้ออาวุธสำหรับใช้ทางการทหารจากประเทศจีน ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนเป็นสองประเทศที่จำหน่ายอาวุธรายใหญ่ ในขณะที่ประเทศอินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก
จากข้อมูลข้างต้นยังได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญและการค้าระหว่างประเทศสมาชิกกำลังเติบโตขึ้น ประเทศรัสเซียยังคงคงเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับอินเดียในช่วง 14 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งสำหรับการส่งออกอาวุธของประเทศรัสเซีย แต่ทว่าในภาพรวมส่วนแบ่งทางการตลาดของรัสเซียจะลดลงจากร้อยละ 78 ในปี 2551 – 2555 เหลือเพียงร้อยละ 45 ในปี 2561 – 2565 ในขณะที่ฝรั่งเศส อิสราเอล และสหรัฐอเมริกาต่างได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น
สำหรับยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างประเทศจีนที่เคยพึ่งพาการนำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากประเทศรัสเซีย แต่ระหว่างปี 2551 – 2565 จีนก็ได้ลดการนำเข้าจากรัสเซีย เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเองโดยอุตสาหกรรมอาวุธของจีน
เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในแง่ของการส่งออกอาวุธ รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 5 โดยอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้มีอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศที่ค่อนข้างเล็กแต่มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มการส่งออก
ทางด้านประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออก ยูกันดาถือเป็นตลาดส่งออกอาวุธใหญ่ตลาดหนึ่งของรัสเซียในปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่นำเข้าอาวุธด้วยเช่นกัน
ประเทศในแอฟริกาตะวันออก | ||
ประเทศนำเข้าอาวุธ | ประเทศส่งออกอาวุธ | มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
ยูกันดา | รัสเซีย | 48 |
รวันดา | รัสเซีย
ตุรกี สหรัฐอเมริกา |
46
10 2 |
เอธิโอเปีย | จีน | 35 |
แทนซาเนีย | จีน
ฝรั่งเศส (อยู่ในระหว่างจัดหา) |
29
24 |
โซมาเลีย | แอฟริกาใต้ | ไม่ระบุ |
สาธารณรัฐประชาธิปไตคองโก | แอฟริกาใต้ | ไม่ระบุ |
มีเพียงสองประเทศในแอฟริกาตะวันออก อย่าง เคนยาและซูดานใต้ที่ยังไม่มีการจัดหาอาวุธเพื่อใช้ทางการทหารจากกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS ในช่วงเวลานี้
ในปี พ.ศ. 2552 ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้นมาเพื่อต่อต้านการครอบงำทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติตะวันตก และเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และความร่วมมือด้านต่างๆ และแนวโน้มการรวมสมาชิกใหม่อย่างอาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ นั้นมีเป้าหมายเพื่อขยายวัตถุประสงค์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นในวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีมุมมองของนักวิชาการหลายฝ่ายมองว่า การเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างระเบียบโลกใหม่ เพื่อลดช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างบทบาทที่แท้จริงของตลาดเกิดใหม่ในระบบการค้าโลก และความสามารถของประเทศเหล่านี้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสถาบันระดับโลกต่างๆ อีกด้วย
ความเห็นของ สคต.
จากข่าวดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าการที่หลายประเทศในแอฟริกาได้เริ่มมีการนำเข้าอาวุธจากรัสเชียและจีนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนั้น แสดงให้เห็นถึง ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการที่ประเทศในแอฟริกาหันมาพึ่งประเทศจีนและรัสเชียมากขึ้น
ในส่วนของไทยนั้น ไทยเองก็มีความสามารถในการผลิตรถยนต์หรือรถโดยสารขนาดกลางและเล็กที่ใช้งานได้ในกองทัพในหลายผู้ผลิต ไทยควรอาศัยการที่เราไม่มีนโยบายฝักใฝ่กับฝ่ายใดเป็นพิเศษนั้น เข้ามาทำตลาดกับประเทศในแอฟริกาในอุตสาหรกรรมดังกล่าวในอนาคต เพราะยิ่งสถานการณ์ความมั่นคงที่ประเทศในแอฟริกาต้องการจัดหาอาวุธหรือยานพาหนะที่เข้ามาทำภารกิจในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศมากขึ้น ไทยก็ย่อมมีโอกาสจะเข้าสูตลาดดังกล่าวมากขึ้น เพราะราคาสินค้าของไทยและคุณภาพสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ไม่ต้องการจะมีนโยบายพึ่งพาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าวหันมามองตลาดแอฟริกาในอนาคตต่อไป
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา :
Business Daily
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)