หน้าแรกTrade insight > อิตาลีเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย ส่งผลตลาดงานบ้านในอิตาลีต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

อิตาลีเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย ส่งผลตลาดงานบ้านในอิตาลีต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

อิตาลีเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย ส่งผลตลาดงานบ้านในอิตาลีต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
งานบ้านในอิตาลีเป็นภาคส่วนที่ประกอบด้วยคนงานต่างชาติเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้หญิง เป็นเวลาหลายปีแล้วงานที่งานในภาคส่วนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้ของอิตาลี เนื่องจากการทำงานนอกบ้านกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน แม้แต่ผู้หญิงก็ไม่ได้อยู่ติดบ้านเหมือนสมัยก่อน ทำให้ต้องอาศัยแรงงานนอกบ้านมาดูแลงานในบ้านแทน ซึ่งมุ่งเน้นที่แรงงานราคาถูก (ชาวต่างชาติ)
แรงงานทำงานบ้าน (domestic workers) คือ คนทำงานในแขนงงานได้แก่ พนักงานเสิร์ฟ คนทำความสะอาดบ้าน คนดูแลคนชรา/ผู้ป่วย/พิการ พี่เลี้ยงเด็ก คนทำอาหาร แม่บ้านตามโรงแรม คนขับรถ (บริการระดับครอบครัว) คนทำสวน คนเฝ้าอาคาร ยามรักษาความปลอดภัย เป็นต้น งานประเภทนี้มักทำอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน ในอิตาลีจะจ้างงานเป็นระบบชั่วโมง ไม่ใช่ระบบเหมาจ่าย และเป็นแรงงานในระบบที่มีกฎหมายรองรับ
สมาคม Domina (สมาคมผู้จ้างทำงานบ้านแห่งชาติ) ได้ทำการวิเคราะห์ แรงงานทำงานบ้านในภาคส่วนที่มีความสำคัญ ได้แก่ พนักงานทำความสะอาดและคนดูแลคนชรา/ป่วย/พิการ ปัจจุบันงานสองประเภทดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด
ข้อมูลของหน่วยงาน INPS (สำนักงานสวัสดิการสังคมแห่งชาติอิตาลี) เปิดเผยว่าในปี 2565 แรงงานทำงานบ้านมีจำนวน 272,583 คน (ที่มีการแจ้งการจ้างงานตามกฎหมาย) ในขณะที่ปี 2556 แรงงานทำงานบ้านมีจำนวน 21.2% ของภาคแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในลักษณะเกือบเป็นเส้นตรง โดยปี 2563 อยู่ที่ 30.9% ปี 2564 อยู่ที่ 30.1% และปี 2565 อยู่ที่ 30.5% ของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด

การขาดแคลนแรงงานในประเทศ (คนอิตาลีส่วนใหญ่ปฎิเสธการทำงานประเภทดังกล่าว) ทำให้เกิดความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ 23,000 คนต่อปี เพื่อรองรับงานทำความสะอาดและผู้ดูแลคนชรา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 68,000 คน ในช่วงสามปี (2566-2568) แต่แรงงานคนต่างชาติสำหรับงานเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลอิตาลีสูญเสียรายได้เกือบ 2.7 พันล้านยูโรต่อปี จากการหลีกเลี่ยงภาษี เพราะส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานมืด (มากกว่า 50%) หรือการจ้างงานขั้นต่ำสุดที่ไม่ตรงความเป็นจริง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและภาษี แม้ต้องเสี่ยงกับการจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้น 30% ในกรณีที่มีข้อพิพาทกับลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายแรงงานอิตาลียังคุ้มครองและให้เปรียบลูกจ้างมากกว่านายจ้าง
ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลีจำนวน 5,030,716 คน (ปี 2565) คิดเป็น 8.5% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในอิตาลีทั้งหมด แรงงานที่ทำงานบ้านเป็นชาวยุโรปตะวันออก (35.8%) ชาวอิตาลี (30%) ชาวเอเชีย (17.1%) ชาวละตินอเมริกา (9.5%) และชาวแอฟริกา (7.2%) แรงงานต่างชาติคิดเป็น 70% ในทุกภาคส่วนของแรงงานทำงานบ้าน
อายุของแรงงานทำงานบ้านในอิตาลี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50.5 ปี สำหรับผู้หญิง (50.8 ปี) มากกว่าผู้ชาย (47.9 ปี) แรงงานทำงานบ้านที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (62.6%) ผู้ชายมีสัดส่วนที่น้อยกว่า (52.6%) แรงงานทำงานบ้านที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่เป็นผู้หญิง (15.5%) สัดส่วนน้อยกว่าผู้ชาย (28.3%) ความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของงานและความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ในปี 2565 มีแรงงานทำงานบ้านหญิงจำนวน 104,564 คน (คิดเป็น 38.4% ของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด) ในขณะที่มีแรงงานทำงานบ้านผู้ชายจำนวน 12,745 คน (คิดเป็นเพียง 4.7% ของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด) งานในภาคส่วนนี้ที่มีการใช้แรงงานทำงานบ้านมากที่สุด ได้แก่ คนทำความสะอาดบ้าน (33.4%) รองลงมาคืองานดูแลคนชรา (27.4%) เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยมีสัดส่วนประชากรสูงวัย (ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป) คิดเป็น 23.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (59 ล้านคน) จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่อิตาลีมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งอิตาลีจะมีการกำหนดโควตานำเข้าแรงงานในทุกๆปี
แคว้นซาร์ดิเนีย ที่เป็นเกาะทางตอนใต้อิตาลี มีจำนวนแรงงานทำงานบ้านกระจุกตัวอยู่มากที่สุด (39,429 คน) รองลงมาคือแคว้นลอมบาร์เดีย (33,957 คน) และแคว้นลาซิโอ (24,243 คน) ในแคว้นซาร์ดิเนีย 82.2% ของแรงงานทำงานบ้านเป็นคนอิตาลีเอง ในขณะที่แคว้นลอมบาร์เดีย (19.4%) และแคว้นลาซิโอ (19.7%) มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ชาวอิตาลีที่ทำงานดังกล่าวต่ำกว่ามาก และจะน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากทางตอนใต้อิตาลีการหนีภาษีทำได้ง่าย และหน่วยงานราชการไม่เข้มงวดกวดขันในการตรวจตราหรือดำเนินการลงโทษคนจ้างงานมืดและกดขี่แรงงานอย่างจริงจัง ส่วนในแคว้นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่คนทำงานมีรายได้สูงสุด อย่างแคว้นลอมบาเดียและแคว้นลาซิโอ มีการตรวจสอบและสั่งปรับที่เข้มงวดกว่า มีการจ้างงานถูกต้องมากกว่า คนต่างชาติจึงมักเลือกทำงานในเมืองใหญ่ ที่สามารถหางานประเภทดังกล่าวได้ง่าย และมีรายได้และสิทธิตามกฎหมายที่ดีกว่า
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
ปี 2566 อิตาลีกำหนดโควตาแรงงานต่างชาติจำนวนสูงสุด 82,705 ราย โดยจำนวนนี้ กำหนดโควตาสำหรับแรงงานต่างชาติที่ต้องการทำงานช่วงนอกฤดูกาล และทำงานอิสระ 38,705 ราย โดยในจำนวนนี้ กำหนดเป็นโควตาสำหรับงานในภาคการก่อสร้าง การท่องเที่ยว-โรงแรม การสื่อสาร อาหาร และการต่อเรือ จำนวน 30,105 ราย ซึ่งจำแนกให้กับแรงงานต่างชาติใน 32 ประเทศ จำนวน 24,105 ราย (แอลเบเนีย อัลจีเรีย บังคลาเทศ บอสเนียและเฮอ์เซโกวีนา เกาหลีใต้ ไอโวรีโคสต์ อียิปต์ เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์ แกมเบีย จอร์เจีย กานา ญี่ปุ่น กัวเตมาลา อินเดีย โคโซโว มาลี โมรอคโค มอริเชียส มอลโดวา มอนเตเนโกร ไนเจอร์ ไนจีเรีย ปากีสถาน มาซิโดเนียเหนือ เซเนกัล เซอร์เบีย ศรีลังกา ซูดาน ตูนีเซีย และยูเครน) และสำหรับผู้อพยพยในปี 2566 อีกจำนวน 6,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการกำหนดโควตาที่ครอบคลุมถึงแรงงานไทย จึงอาจเป็นอีกประเด็นที่สามารถหยิบยกขึ้นในเวทีการเจรจากับอิตาลีต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการนำเข้าแรงงานไทยที่มีทักษะและมีฝีมือ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว-โรงแรม และอาหาร ที่เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาขาดแคลน เชฟ พ่อครัว แม่ครัว ของร้านอาหารไทยในอิตาลี และจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถขยายธุรกิจบริการร้านอาหารไทยได้ต่อไปในอนาคต
——————————————————————————————–
www.ilsole24ore.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
6 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login