อิตาลีมีแนวโน้มตัดสินใจไม่ต่ออายุข้อตกลง Belt and Road Initiative กับจีน
นายกรัฐมนตรีอิตาลี นางจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) ผู้นำพรรคฝ่ายขวา Fratelli d’Italia ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNA (Commerce News Agency) ของไต้หวัน ว่าไม่พอใจการโต้ตอบของสถานทูตจีนในอิตาลี และจะไม่ลงนามต่ออายุการเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative) ในปี 2567 เนื่องจากนโยบายคุกคามของรัฐบาลปักกิ่งต่อความเป็นอธิปไตยของไต้หวันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับอิตาลี เพราะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วไต้หวันด้วยความไม่สบายใจ และด้วยนโยบายฝักใฝ่ข้างตะวันตก สหรัฐอเมริกา และองค์กร NATO อิตาลีจำเป็นต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนด้านการเมืองระหว่างประเทศ
ในปี 2556 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ริเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯในประเทศต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ในโลก และเป็นหนึ่งในความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลไปยังหลายประเทศในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป รัฐบาลตะวันตกเกือบทั้งหมดและรัฐบาลสหรัฐฯได้คัดค้านโครงการดังกล่าว ในขณะที่ อิตาลีเข้าร่วมโดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) ในเดือนมีนาคม 2562 โดยนายกรัฐมนตรีนายจูเซปเป คอนเต (Giuseppe Conte) กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ณ กรุงโรม อิตาลีเป็นเพียงประเทศเดียวใน G7 ที่ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
ปัญหาดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากข้อตกลงมีระยะเวลา 5 ปี และการต่ออายุเป็นไปโดยอัตโนมัติ (ในวันที่ 24 มีนาคม 2567) หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้น รัฐบาลของนางเมโลนีจะต้องยื่นหนังสือยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าสามเดือน ซึ่งหมายความถึงภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2566
นางเมโลนียังอ้างถึงเหตุการณ์ต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ มีการปราบปรามนักเคลื่อนไหวในฮ่องกงของจีนอย่างรุนแรง การเลือกปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์(Uighurs)และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จุดยืนที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการแสดงความก่อกวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อข่มขู่และสร้างความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน สิ่งการกระทำเหล่านี้สนับสนุนจุดยืนต่อต้านการลงนามต่ออายุในข้อตกลง และยังกล่าวเสริมว่าปักกิ่งควรผ่อนปรนน้ำเสียงและแสดงความชัดเจนอย่างที่เป็นรูปธรรมต่อการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความถูกต้องด้านกฎหมายระหว่างประเทศ พฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสของจีนเป็นที่ยอมรับไม่ได้ และควรได้รับการประณามอย่างจริงจังจากประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดในโลก และในประเด็นนี้ สหภาพยุโรปจะต้องปรับใช้อาวุธทางการเมืองและการทูตทั้งหมดที่อยู่ในอำนาจเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้จีนก่อความขัดแย้งทางทหาร เนื่องจากไต้หวันเป็นพันธมิตรทางการค้าเชิงกลยุทธ์สำหรับอิตาลีและยุโรป และเป็นตลาดทางการค้าที่สำคัญสำหรับจีนด้วยเช่นกัน จีนอาจเสี่ยงต่อการถูกปิดสัมพันธ์ทางการค้ากับอิตาลีและฝ่ายตะวันตกหากตัดสินใจโจมตีไต้หวัน
นางเมโลนีสัญญาว่าจะดำเนินงานตามนโยบาย ‘Global gateway’ ของสหภาพยุโรป ระหว่างปี 2564 ถึง 2570 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันการลงทุนและช่วยเหลือประเทศต่างๆในโลกเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบโต้อิทธิพลของผู้นำเผด็จการของรัสเซียและจีนในคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก บางส่วนของแอฟริกา อินโดแปซิฟิก และละตินอเมริกา ซึ่งรัฐบาลอิตาลีจะให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
นางเมโลนีกล่าวเสริมว่าความเป็นอธิปไตยมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องทางทหาร เช่นเดียวกับในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และในแง่ของเสรีภาพในการให้ข้อมูล เพื่อต่อต้านความพยายามแทรกแซงของรัสเซียและจีน พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆสนับสนุนยูเครนมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นความพยายามทางการเมืองของจีนและรัสเซียที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีจุดประสงค์ในการต่อต้านประเทศตะวันตก และหากยูเครนพ่ายแพ้สงคราม ผลกระทบที่ตามมาก็จะร้ายแรงสำหรับทุกประเทศ
นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งลงนามก่อนการเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19ไม่นาน ดูเหมือนจะไม่มีความเท่าเทียมในการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างจีนและอิตาลี การส่งออกของอิตาลีไปยังจีนเติบโตขึ้นจาก 11 พันล้านยูโร ในปี 2559 กลายเป็น 16.4 พันล้านยูโร ในปี 2565 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในทางตรงกันข้าม การส่งออกของจีนไปยังอิตาลีเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า โดยแตะ 57 พันล้านยูโร ในปี 2565 ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับแรกของสหภาพยุโรป โดยสัดส่วนการนำเข้าจากจีนคิดเป็น 20.8% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหภาพยุโรป หากประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมดมีดุลการค้าไม่สมดุลกับจีน การขาดดุลของอิตาลีก็ยิ่งหยั่งลึกขึ้นเรื่อยๆ และเลวร้ายที่สุดรองจากเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเป็นเมืองท่าเรืออย่างรอตเตอร์ดัมและท่าเรืออื่นๆสำหรับการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ
สถานทูตจีนในอิตาลี ไม่พอใจอย่างมากกับการสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีอิตาลีเกี่ยวกับไต้หวัน ฝ่ายจีนสังเกตเห็นท่าทีเชิงลบบางประการในประเด็นของไต้หวันที่กระตุ้นแนวทางที่ไม่เป็นมิตรต่อจีน ดังนั้น โฆษกสถานทูตจีนในอิตาลีออกมาแสดงความไม่พอใจและคัดค้านอย่างแข็งขันต่อคำแถลงของนางเมโลนี และยังยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้ ประเด็นของไต้หวันเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน
ขณะนี้รัฐบาลอิตาลียังไม่ได้ประกาศอะไรอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีข่าวลือต่างๆปรากฏตามหนังสือพิมพ์ ซึ่งในความเป็นจริงการตัดสินใจออกจากข้อตกลงได้เกิดขึ้นแล้ว ก่อนการประชุม G20 ที่อินเดีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี นายอันโตนิโอ ทาจานิ (Antonio Tajani) ได้เดินทางต่อไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ (วันจันทร์ 4 กันยายน 2566) และได้พบกับนายหวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของการต่ออายุการเป็นสมาชิกของโครงการดังกล่าว ซึ่งมีการพูดคุยกันมาระยะหนึ่งแล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อิตาลีจะออกจากข้อตกลง และการเยือนจีนของนาย อันโตนิโอ ทาจานิ แม้จะไม่มีการกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นก้าวแรกสู่การตัดสินใจอย่างเป็นทางการที่จะต้องดำเนินการภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม การประชุม G20 ครั้งนี้ ที่จัดขึ้นที่ภารัต (อินเดีย) ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกับ 5 ประเทศ ระหว่างภารัต (อินเดีย) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส และอิตาลี ในการสร้างระบบการขนส่งครบวงจรทั้งทางเรือและทางรถไฟ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างเอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง และยุโรป (The Principle of an India – Middle East – Europe Economic Corridor: IMEC) ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่จะเชื่อมเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อภารัต (อินดีย) กับเอเชียตะวันตกและตะวันออกกลาง ในขณะที่เส้นทางคมนาคมทางเหนือ จะเชื่อมต่อเอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง และยุโรป เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกให้กับการค้าโลก ให้มีความปลอดภัยจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในอนาคต
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
จากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคฝ่ายขวาอิตาลีเมื่อปลายปี 2565 นายกรัฐมนตรีของอิตาลี นางจอร์เจีย เมโลนี มีนโยบายที่ชัดเจนในการอยู่ฝ่ายตะวันตกและสหรัฐอเมริกา และด้วยความยุ่งยากและซับซ้อนทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การสนับสนุนประเทศยูเครนอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมา การวิพากษ์วิจารณ์ความต้องการครอบครองไต้หวันของจีน เป็นต้น ทำให้อิตาลีจำเป็นต้องเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อประเทศที่ไม่เคารพการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่อิตาลีต้องเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวังและยังค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นประเทศที่อิตาลีนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ามากที่สุด และประสบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของจีนที่กระทบต่อเศรษฐกิจอิตาลี และจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของหลายประเทศหลักๆทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้อิตาลีเริ่มหันมาสนับสนุนการผลิตในประเทศเพื่อพึ่งพาตนเอง หรือหาประเทศซัพพลายเออร์อื่นๆที่เล็กลง เพื่อลดความเสี่ยง และลดความเสียเปรียบในการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับประเทศที่มีอิทธิพลทางการค้า
ดังนั้น การพยายามตีตัวห่างจากจีน จะทำให้อิตาลีมองหาคู่ค้าทางธุรกิจใหม่ๆ และประเทศในเอเชียก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิบไตยที่มีเสรีภาพ เคารพในสิทธิมนุษยชน และมีความปลอดภัย สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิตาลีได้อีกมาก โดยเฉพาะการประกาศนับหนึ่งการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) อีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ตั้งเป้าการเจรจาให้จบภายใน 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป รวมถึงไทย-อิตาลี ต่อไปในอนาคต
——————————————————————————————–
https://www.ansa.it/sito/notizie/politica/2022/09/23/meloni-non-rinnoverei-ladesione-alla-via-della-seta-cinese_c6c5a8b3-a9a7-4d82-91cc-41d669584cd5.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
13 กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)