หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > อำเภอจิ้นเจียง มณฑลฝูเจี้ยน แหล่งรวมผู้ผลิตและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารว่างของจีน

อำเภอจิ้นเจียง มณฑลฝูเจี้ยน แหล่งรวมผู้ผลิตและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารว่างของจีน

อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ของว่าง เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่โดนเด่นของอำเภอจิ้นเจียง เมืองเฉวียนโจว เป็นตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และยังเป็นฐานการส่งออกและโรงงานผลิตแปรรูปขนมขบเคี้ยวของจีน หลังจากการพัฒนาสั่งสมประสบการณ์มากว่า 30 ปี ทำให้เมืองจิ้นเจียงมีรูปแบบอุตสาหกรรมอาหารครอบคลุมถึง 10 หมวดหมู่ใหญ่ และผลิตสินค้าอาหารกว่า 100 ประเภท มูลค่าทางการตลาดด้านสินค้าอาหารของเมืองจิ้นเจียงคิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาดอาหารทั้งหมดในมณฑลฝูเจี้ยน โดยอำเภอจิ้นเจียงมีปริมาณการผลิตลูกอมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการผลิตทั้งหมดในประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของการผลิตทั้งหมดในมณฑลฝูเจี้ยน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตเยลลี่ยังติดอันดับ 2 เมื่อเทียบกับแหล่งผลิตอาหารหลักในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ อุตสาหกรรมอาหารขึ้นเป็นอุตสาหกรรมพัฒนาอันดับ 3 ของอำเภอจิ้นเจียง ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านหยวน รองจากอุตสาหกรรมรองเท้า เสื้อผ้า และสิ่งทอ

งานแสดงสินค้าอาหารระหว่างช่องแคบไต้หวัน (อำเภอจิ้นเจียง เมืองเฉวียนโจว) ครั้งที่ 7 “The 7th Cross-Strait Food Fair” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติอำเภอจิ้นเจียง มณฑลฝูเจี้ยน ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566 โดยงานจัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมอาหารอำเภอจิ้นเจียงและหอการค้าเมืองเฉวียนโจว ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมณฑลฝูเจี้ยน สมาคมชาวจีนโพ้นทะเลมณฑลฝูเจี้ยน สมาคมแลกเปลี่ยนธุรกิจช่องแคบฝูเจี้ยน คณะกรรมการเทศบาลเมืองเฉวียนโจว และรัฐบาลเมืองจิ้นเจียง เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับความเป็นมืออาชีพของอุตสาหกรรมด้านอาหารในระดับนานาชาติ สร้างความเชื่อมโยงตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ มุ่งเน้นแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีและแนวโน้มอุตสาหกรรมทางด้านอาหารในปัจจุบัน และยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางธุรกิจด้านอาหารจากทั่วทุกมุมโลก ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ซื้อและผู้ขายในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก

ที่มา : Food fair.com

งานแสดงสินค้ามีพื้นที่จัดแสดงกว่า 60,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 7 โซนจัดแสดง อาทิ โซนสินค้าอาหารจากไต้หวัน โซนสินค้าอาหารนำเข้า โซนสินค้าอาหารที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้า และโซนแบรนด์สินค้าระดับภูมิภาค เป็นต้น รวมทั้งหมด 2,800 บูท นอกจากนี้ ยังมีฟอรั่มการประชุมสุดยอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตขนมขบเคี้ยว การประชุมสุดยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว และอีกมากมายกว่า 10 เวที ซึ่งดึงดูดผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 1,200 ราย ใน 20 ประเทศและภูมิภาค อาทิ เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สินค้าอาหารจากประเทศ ตลอดการจัดงานนิทรรศการ มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 100,000 คน มีมูลค่าซื้อขายตามสัญญา MOU 18,026 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144.9 จากปี 2565

ภาพสินค้าและบรรยากาศในงานนิทรรศการ

ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอาหารมากมาย ที่ได้รวบรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำของการผลิตอาหารเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ลูกกวาด ช็อคโกแลต ขนมอบ บิสกิต เยลลี่ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารกระป๋อง เมล็ดธัญพืชคั่ว ผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องจักรผลิตอาหาร สีผสมอาหาร สารผสมอาหาร รวมไปถึงการวางแผนแบรนด์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ภายในงานยังมีการสร้างรูปแบบการประชาสัมพันธ์ออนไลน์เข้ามาใช้ในงานนิทรรศการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการซื้อขายให้กว้างมากขึ้น จากการถ่ายทอดสดมีผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม Cross-Strait Food Fair มีจำนวนผู้เข้าชม 180,000 คน ในจำนวนนี้ มีผู้เข้าชมจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนผู้เข้าชมงานผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมี แบรนด์และผลิตภัณฑ์กว่า 10,000 รายการเข้าร่วมแสดงสินค้าผ่านทางออนไลน์ และมียอดผู้เข้าชมร้านค้าต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์สะสมกว่า 600,000 ครั้ง

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : อำเภอจิ้นเจียงเป็นพื้นที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจภาคเอกชนมากที่สุดในเมืองเฉวียนโจว โดยอุตสาหกรรมสำคัญของอำเภอจิ้นเจียง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะขนม ลูกอม ผลไม้อบแห้ง อาหารว่าง) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจเมืองเฉวียนโจวเป็นอย่างมาก ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของเมืองอยู่ที่ 320,743 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 YoY โดย GDP ของอำเภอจิ้นเจียงเพียงอำเภอเดียวแต่คิดเป็นถึงร้อยละ 6 ของ GDP ทั้งมณฑลฝูเจี้ยน และคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของเมืองเฉวียนโจว โดยมีมูลค่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงสุดที่ 197,291 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 YoY

การจัดงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ เป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารของอำเภอจิ้นเจียง ที่แสดงให้เห็นถึงหลากหลายและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านของรับประทานยามว่าง ขนม ลูกอม ผลไม้อบแห้ง  เชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมร่วมเข้าไว้ด้วยกัน โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้า (Exhibitor) เป็นผู้ประกอบการในประเทศจีน เกือบทั้งหมด ไม่มีการจัดแสดงในรูปแบบ country pavilion ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผู้ผลิตที่ต้องการแสวงหาลูกค้าที่สนใจ ทั้งในรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) และมีแบรนด์ของตัวเองรวมถึงแบรนด์ดังของจีน อย่าง Panpan ขนมขบเคี้ยวที่เป็นที่รู้จักในชาวจีนมานาน งานนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เจอสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง หรือแสวงหาโรงงานรับจ้างผลิต ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมอาหารอำเภอจิ้นเจียง ได้เดินทางเข้าร่วมเยี่ยมชมงาน THAIFEX-ANUGA 2023 ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา รวมถึงได้ไปออกบูธเป็น Exhibitor ในงาน โดยได้นำคณะผู้แทนการค้าในสมาคมที่สนใจเข้าร่วมชมงานฯ ตามคำเชิญของ สคต.เซี่ยเหมิน และได้ชื่นชมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารของไทย เล็งเห็นศักยภาพที่ประเทศไทยเป็นฮับของสินค้าอาหาร มีวัตถุดิบที่สนับสนุนการผลิต จึงมีสมาชิกบางรายสนใจที่จะไปจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย รวมถึงให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายอุตสาหกรรมอาหารของอำเภอจิ้นเจียงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในงาน The 7th Cross-Strait Food Fair ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมอาหารอำเภอจิ้นเจียง กับสมาพันธ์อำเภอจิ้นเจียง เมืองเฉวียนโจว ในประเทศไทย ภายใต้โครงการ ศูนย์รวมกระจายสินค้าอาหารพรีเมี่ยมของอำเภอจิ้นเจียงในประเทศไทย อนึ่ง หากผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหารที่สนใจศึกษาสำรวจแนวโน้มของตลาดและอุตสาหกรรม สามารถเดินทางมาศึกษาในงานดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี

http://www.mnw.cn/jinjiang/news/2812093.html

https://mp.weixin.qq.com/s/vUGt7f4k-20c_J65b7G4yg

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

27 กรกฎาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login