หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีก้าวขึ้นนำหน้าญี่ปุ่นในที่สุด

อำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีก้าวขึ้นนำหน้าญี่ปุ่นในที่สุด

จากรายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF – International Monetary Fund) พบว่า อำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีได้ไต่อันดับขึ้นเป็นที่ 3 ของโลก ทั้ง ๆ ที่เยอรมนีแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย สาเหตุหลักเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นขยายตัวสูงกว่าเยอรมนี ประกอบกับค่าเงินสกุลเยนของญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันอย่างหนัก จนทำให้เมื่อนำอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมาคำนวนเป็นเงินเหรียญสหรัฐแล้วปรากฏว่า ต่ำกว่าของเยอรมนี ในรายงานยังแสดงให้เห็นว่า IMF คำนวณค่าอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไว้ที่ 4.23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ของเยอรมนีอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่กว่าเยอรมนีถึงสองเท่าครึ่ง แต่ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ได้ลดลงประมาณ 50% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรแล้วอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนก็ลดลง 27% สำหรับความผิดพลาดที่สำคัญของญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่มีเพียงธนาคารกลางของญี่ปุ่นที่ไม่ได้ดำเนินนโยบายดังกล่าว

 

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคิดว่าการที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อภาคเอกชนและการส่งออก เพราะการที่เงินอ่อนค่าลงจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในด้านการส่งออกและเพิ่มปริมาณการส่งออกขึ้น ซึ่งตอนนี้บริษัทส่งออกส่วนใหญ่ยังได้ประโยชน์อยู่ โดยราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ยังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัทโตโยต้า แต่ยอดการส่งออกก็ไม่ได้ขยายตัวมากเท่ากับการรักษาค่าเงินเยนให้ต่ำไว้ แต่ในทางกลับกันการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ก็มีราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าบริโภค แต่เมื่อสิ่งนี้ไม่รวมอยู่ในการคำนวณ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” จึงแทบจะไม่สะท้อนให้เห็นในสถิติเลย โดยนาย Martin Schulz หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเทคโนโลยี Fujitsu กล่าวว่า “โดยเฉลี่ยผู้บริโภคต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 10% โดยประมาณ นโยบายการเงินแบบขยายตัว (Expansionary Monetary Policy) หลายทศวรรษของญี่ปุ่นกำลังส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างหนัก” ด้านนาย Shrikant Kale นักยุทธศาสตร์เชิงปริมาณ (Quantitative Strategist) จากธนาคาร Investmentbank Jefferies ออกมาเตือนว่า นโยบายทางเศรษฐกิจที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์และหนี้ของประเทศในระดับสูงของญี่ปุ่นนั้น “ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” การลงทุนในตลาดหุ้นที่ดำเนินมา 3 ปี อาจ “กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม” ในไม่ช้า และเป็นไปได้ที่บริษัทดั้งเดิมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งอาจถูกเทคโอเวอร์แทนได้ แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่าจ้างในญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม แต่ค่าจ้างจริง ๆ หลังหักอัตราเงินเฟ้อออก ก็ลดลงต่อเนื่อง 18 เดือน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายต้องการสร้างอัตราเงินเฟ้อที่ “ดี ซึ่งหมายความว่า ค่าจ้างควรจะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้น”

 

สำหรับคะแนนนิยมของนาย Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีลดลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่า 30% ซึ่งนาย Kishida พยายามที่จะสร้างคะแนนนิยมกลับมาบ้าง โดยได้มอบของขวัญต่าง ๆ ให้กับชาวญี่ปุ่น ได้แก่ ในปี 2022 รัฐบาลได้อุดหนุนราคาน้ำมัน ตามมาด้วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าและค่าแก๊ส ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 38 พันล้านยูโร นอกจากนี้นาย Kishida ยังต้องการที่ออกนโยบายลดภาษีเงินได้ชั่วคราวด้วย แต่อย่างไรก็ดี คะแนนความนิยมของนาย Kishida ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านนาย Schulz กล่าวว่า “ประชากรจะไม่เห็นคุณค่าคุณเมื่อคุณให้เงินพวกเขาแต่ในเวลาเดียวกันก็กลับเพิ่มภาษีด้วย มาตรการดังกล่าวจึงไม่ถูกมองว่าเป็นของขวัญ แต่กลับกลายเป็นนโยบายที่ล้มเหลวของนาย Kishida” และเขาได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะจัดหาเงินทุนให้กับค่าใช้จ่ายด้านการทหารและสังคมที่เพิ่มขึ้นผ่านการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น เพื่อหยุดการอ่อนค่าของสกุลเงินเยน ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ซึ่งนี่คงจะทำให้ญี่ปุ่นเจ็บปวดมาก เพราะภาคการเมืองคุ้นเคยกับความสามารถในการกู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลาหลายทศวรรษ ปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้มากถึง 250% ของ GDP แต่ในโลกที่อัตราดอกเบี้ยสูง ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ต้องเคลื่อนไหวเช่นกัน ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ในปี 2024 แม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเพียงก้าวเล็กๆ ก็ตาม

 

อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงของญี่ปุ่นยังไม่ได้รับการแก้ไข นาย Kazumi Kishikawa นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Daiwa Institute of Research เปิดเผยว่า “เมื่อต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออก จำเป็นต้องปรับปรุงอำนาจในการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ขึ้นด้วย” ในเวลานี้ มีศักยภาพของภาคเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอีกหนึ่งความเป็นจริงก็คือ จากการจัดอันดับของ Japan Productivity Center ในปี 2021 กำลังการผลิตผลิตของญี่ปุ่นได้ลดลงไปอยู่ที่อันดับที่ 24 ในบรรดา 38 ประเทศ ในเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organisation for Economic Co-operation and Development) ด้วยกัน ในขณะที่เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 11 นอกจากนี้ตามการวิเคราะห์แนวโน้มล่าสุดจากสถาบัน Japan Productivity Center ยังแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเองก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือเกือบหยุดนิ่งมาตั้งแต่ปี 2021 โดยนักเศรษฐศาสตร์ออกมาบ่นว่า บริษัทจำนวนมากยึดติดกับความสัมพันธ์ในการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่คุ้นเคยเกินไป ดังนั้นเมื่อไม่มีการแข่งขัน ก็ทำให้ต้องจ่ายค่าวัตถุดิบที่มีราคาสูงเกินไป ทำให้สามารถใช้เงินลงทุนด้านนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้อยกว่าในประเทศอื่น ๆ โดยบริษัทจำนวนมากที่ยังสามารถอยู่รอดก็เพราะนโยบายอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาล นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นมักจะจ้างพนักงานมากกว่าบริษัทตะวันตก โดยเฉลี่ยแล้วภาคเอกชนมีเครื่องจักรที่เก่าเกินไป และใช้แรงงานจำนวนมากเกินไปในการะบวนการการผลิต นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้ามากเกินไป ทำให้แรงงานมีฝีมือพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่า ลูกค้าจะไม่รอนาน แต่เหตุผลดังกล่าวนี้จะต้องจ้างพนักงานจำนวนมากตามไปด้วย ทำให้บริษัทที่มีพนักงานมากเกินไปก็ไม่กล้าที่จะเลิกจ้างเพราะกลัวถูกสังคมประนาม แม้ว่าจะมีแรงกดดันอย่างหนักให้เพิ่มค่าจ้างงานขึ้นก็ตาม สำหรับนาย Kishikawa แล้ว เยอรมนีนับเป็นตัวอย่างที่ดี จากดัชนีนวัตกรรมของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, WEF) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 8 ในขณะที่ญี่ปุ่นตามหลังเยอรมนีอยู่ถึง 5 อันดับ นาย Kishikawa กล่าวว่า “เยอรมนีได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้วงจรการผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพสูงและทำให้การผลิตเร็วขึ้น” นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนีก็ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้ตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม (สีเขียว) และหาทางเป็นอิสระจากการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันของเยอรมนีคิดเป็น 0.5% ถึง 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งญี่ปุ่นมีภาวะผูกพันในการนำเข้าน้ำมันมากกว่าเยอรมนีคิดเป็น GDP ถึง 2 เท่า

 

จาก Handelsblatt 1 ธันวาคม 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีก้าวขึ้นนำหน้าญี่ปุ่นในที่สุด

Login