อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งของญี่ปุ่นในครึ่งแรกของปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา ซึ่งตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นมา ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องทยอยปรับปรับราคาขึ้น จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2565 เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นและกระทบการปรับราคาสินค้าอีกครั้ง ภายหลังจากนั้น ค่าเงินเยนอ่อนลงเป็นประวัติการณ์และอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้มูลค่าการจำหน่ายจะไม่ลดลง แต่ปริมาณการจำหน่ายนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ครึ่งปีหลังนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแช่แข็งจึงพยายามวางแผนเพื่อกระตุ้นปริมาณการจำหน่าย
สินค้าอาหารแช่แช็งสำหรับครัวเรือน
จากการสำรวจของบริษัท INTAGE Inc. เกี่ยวกับมูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งประเภทอาหารปรุงแต่ง สินค้าเกษตร สินค้าประมงสำหรับครัวเรือน ปี 2565 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือเท่ากับ 567,900 ล้านเยน (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) อาหารประเภทกับข้าวปรุงสำเร็จขยายตัวดี ส่วนประเภทอาหารกล่องขยายตัวไม่ดีนักแต่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจากที่รัฐบาลปรับลดระดับเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของการรับประทานอาหารภายในบ้าน แต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้เห็นถึงความสำคัญของอาหารแช่แข็งจึงทำให้ตลาดยังคงขยายตัวคงที่ แม้อาหารประเภทกับข้าวปรุงสำเร็จขยายตัวดีแต่ก็มีแนวโน้มว่า อาหารระดับราคาย่อมเยาจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจากมีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องและผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารกล่องแช่แข็งที่มีแนวโน้มว่า ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าราคาถูก หลายบริษัทพยายามผลิตสินค้าสำหรับข้าวกล่องที่หลากหลาย และคำนึงถึงขนาดของข้าวกล่องโดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุที่กะปริมาณให้พอดี สำหรับอาหารแช่แข็งกลุ่มของว่างและขนมขยายตัวดี เช่น โอโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) ทาโกะยากิ (ขนมครกญี่ปุ่น) ฯลฯ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง
สินค้าอาหารแช่แข็งสำหรับอุตสาหกรรม
ปี 2565 มูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งสำหรับอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 10 – 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้มูลค่าตลาดจะยังไม่เทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่คาดว่า ไตรมาสนี้มูลค่าจะกลับมาฟื้นตัวจนเทียบเท่าก่อนสถานการณ์ดังกล่าว หากแยกเป็นประเภทอาหาร อาหารประเภทกับข้าวปรุงสำเร็จขยายตัวสูงบวกกับการยกเลิกมาตรการการควบคุมต่างๆทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้นและรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การขาดแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้สินค้าและบริการที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงงานอย่างอาหารแช่แข็งได้รับความนิยม
ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งสำหรับร้านอาหารนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สินค้าบางอย่างผลิตไม่ทันความต้องการของตลาด ปัญหาการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดจึงเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขต่อไป
ส่วนอาหารสำหรับอาหารกลางวันโรงเรียน เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระของผู้ปกครองจึงมีเงินช่วยเหลือค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดกลุ่มนี้ขยายตัวดี รวมถึงอาหารสำหรับโรงพยาบาลและสถานสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ก็ขยายตัวดีเช่นกัน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่ง่ายและสะดวกในการปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน ทำให้สินค้าแปรรูปแช่แข็งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้น อาหารแช่แข็งสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ จึงมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างมาก ผนวกกับการขาดแคลนแรงงานที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่รวมถึงอุตสาหกรรมร้านอาหารก็เช่นกัน ทำให้อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงสำเร็จเป็นที่ต้องการเพื่อลดเวลาและการใช้แรงงาน ซึ่งการขาดแคลนแรงงานนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารแช่แข็งสำคัญของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรือประมง และอาหารแปรรูปต่างๆ มูลค่าตลาดแช่แข็งที่ขยายตัวจึงช่วยกระตุ้นมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงดังกล่าว อาจส่งผลต่อต่อปริมาณการส่งออกสินค้าจากไทยมาญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
——————————————————————————————–
ฉบับที่ 41 ประจำวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
——————————————————————————————-
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/news/fujimura20230620102942958
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)