"อาหารเป็นยา” เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการขับเคลื่อนการส่งออกอาหาร โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) พัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สนค. ได้ศึกษาแนวโน้มความต้องการสินค้าอาหาร ภายใต้แนวคิดการรับประทานอาหารเป็นยา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพเน้นป้องกันปัญหาสุขภาพมากกว่าการรักษา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดกระแสความต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก จะสามารถพัฒนาสินค้าอาหารเพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม
ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจรับประทานอาหารเป็นยาเพิ่มขึ้น โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอาหารที่ช่วยรักษาหรือป้องกันโรค ทั้งนี้ คุณสมบัติของอาหารในด้านหน้าที่ หรือ ฟังก์ชัน (Functionality) อาทิ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และการจัดการด้านอารมณ์ กลายเป็นปัจจัยต้น ๆ ในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารของผู้บริโภค และส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเริ่มลดลง
สนค. ได้วิเคราะห์ผลการสำรวจสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายทั่วโลก ของบริษัทมินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2555 – 2564) มีสินค้าอาหารวางจำหน่าย 1,944,226 รายการ เป็นอาหารประเภทฟังก์ชัน 105,162 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของสินค้าอาหารทั้งหมดและอาหารที่มีการกล่าวอ้าง (Claim) คุณสมบัติด้านฟังก์ชัน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคุณสมบัติ 5 อันดับแรก ที่มีการกล่าวอ้างมากที่สุด ซึ่งระบุถึงประโยชน์ที่มีต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ 1) ด้านระบบพลังงาน ร้อยละ 23.6 2) ด้านระบบการย่อยอาหาร ร้อยละ 17.7 3) ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 17.6 4) ด้านระบบกระดูก ร้อยละ 15.3 และ 5) ด้านสารต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 14.7 สำหรับตลาดที่มีการวางจำหน่ายสินค้าอาหารฟังก์ชันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อินเดีย คิดเป็นร้อยละ 9.5 (2) สหรัฐฯ ร้อยละ 9.2 (3) จีน ร้อยละ 5.7 (4) สหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.3 และ (5) เม็กซิโก ร้อยละ 3.9
สำหรับสินค้าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทย ระหว่างปี 2555 – 2564 มี 25,900 รายการ เป็นสินค้าอาหารประเภทฟังก์ชัน 1,684 รายการ หรือร้อยละ 6.5 ของสินค้าอาหารไทยทั้งหมด จะเห็นว่าไทยมีสัดส่วนสินค้าอาหารประเภทฟังก์ชันสูงกว่าภาพรวมของโลก (ที่ร้อยละ 5.4) โดยคุณสมบัติ 5 อันดับแรก ที่สินค้าไทยมีการกล่าวอ้างมากที่สุด คือ 1) ด้านสารต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 25.1 ของจำนวนสินค้าอาหารที่ผลิตจากไทย 2) ด้านสมองและระบบประสาท ร้อยละ 21.4 3) ด้านระบบพลังงาน ร้อยละ 20.84) ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 20.2 และ 5) ด้านระบบการย่อยอาหาร ร้อยละ 17.5 ซึ่งจะเห็นว่าอาหารที่ผลิตจากไทยมีการกล่าวอ้างคุณสมบัติด้านฟังก์ชันที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์อาหารทั่วโลก
แนวคิดการรับประทานอาหารเป็นยา ทำให้คุณสมบัติด้านฟังก์ชันกลายเป็นสิ่งขับเคลื่อนทำให้เกิดนวัตกรรมในสินค้าอาหาร ผู้บริโภคหันมาสนใจอาหารที่มีวัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ และปราศจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ (Clean Label) ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น สมุนไพรไทย มีสรรพคุณในการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้มีสรรพคุณและวางตำแหน่งสินค้า (Positioning) เพื่อสร้างความรับรู้แก่ผู้บริโภคว่า “อาหารเป็นยา” จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอาหารไทย
ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเป็นยา เพื่อป้องกันรักษาโรคและดูแลสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติม หรือใช้ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เทรนด์ “อาหารเป็นยา” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเป็นยา เช่น ชาชงสมุนไพร มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด อาการคลื่นไส้ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เครื่องดื่มผสมขมิ้นชันและขิง ช่วยลดอาการปวดตามข้อ และการนำเยื่อของเปลือกไข่ มาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากอุดมไปด้วยคอลลาเจนและสารสำคัญหลายชนิด โปรตีนบาร์หรือโปรตีนอัดแท่ง สำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือนักกีฬา นมวัวปราศจากแลคโตส (Lactose free) สำหรับผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส เป็นต้นถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ผลิตและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติด้านดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างจุดแข็งทางการตลาด ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทย รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดเป้าหมาย นอกจากนี้ การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบันด้วย
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)