หน้าแรกTrade insightการลงทุนระหว่างประเทศ > อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในเดือนพฤษภาคม

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในเดือนพฤษภาคม

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Centraal Bureau voor de Statistiek : CBS) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมของปีก่อนหน้า โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ร้อยละ 5.2  CBS ได้คำนวณอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายเดือนหากไม่รวมราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ7.8 ในเดือนเมษายน

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ และค่าทำความร้อน) แม้ว่าราคาพลังงานในเดือนพฤษภาคมจะปรับตัวลดลงมาแล้วและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วถึงร้อยละ 24.9 และราคาพลังงานในเดือนเมษายนก็ได้ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 32.2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีก่อนหน้า

CBS ประกาศว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป CBS จะใช้วิธีใหม่ในการวัดและคำนวณราคาพลังงานสำหรับการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งภายใต้วิธีการคำนวณปัจจุบัน ราคาพลังงานจะคำนวณตามสัญญาพลังงานใหม่ แต่วิธีใหม่จะใช้ข้อมูลการใช้พลังงานจริงของผู้บริโภคที่ได้รับจากบริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงาน และคำนวณรวมไปถึงภาษีที่จ่ายภายใต้สัญญาพลังงานระยะยาวด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อมีความแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่  2 มีนาคม 2566 CBS ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีการคำนวณราคาพลังงานด้วยวิธีการใหม่แล้ว

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์เป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในทางลบ โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมมีราคาถูกลงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน และราคาน้ำมั้นเชื้อเพลิงรถยนต์ในเดือนเมษายนถูกลงร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีก่อนหน้า

เมื่อเปรียบเทียบแบบรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงที่สุดในเดือนตุลาคม 2565 หลังจากนั้นอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อแบบรายเดือนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยตามฤดูกาลที่จะส่งผลต่อราคาด้วย ตัวอย่างเช่น บัตรโดยสารเครื่องบินจะมีราคาสูงกว่าปกติในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ CBS ยังได้รายงานตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่ใ่ช้วิธีการคํานวณแบบ European Harmonised Method หรือ European HICP (Harmonised Indices of Consumer Prices) เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบ ข้อมูลของทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ รวมถึงให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) สามารถนำดัชนีผู้บริโภคที่ใ่ช้วิธีการคํานวณแบบ HICP ไปใช้เพื่อกำหนดนโยบายทางการเงินในเขตสหภาพยุโรปได้ โดยข้อแตกต่างระหว่าง Dutch CPI และ HICP คือ ราคาที่อยู่อาศัย โดย Dutch CPI จะรวมราคาในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในการคํานวณด้วย

CBS ได้เผยแพร่ดัชนีผู้บริโภคที่ใช้วิธีการคำนวณแบบ HICP โดยดัชนี European HICP ของเนเธอร์แลนด์เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.8 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อนหน้า และสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ดัชนี HICP อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในเดือนพฤษภาคม

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ที่ยังอยู่ในระดับสูงและกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกันจนถึงปัจจุบันหลังจากที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แม้ว่าราคาพลังงานจะมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับตัวสูงขึ้นมากนัก

แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ทำให้ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2566 และจะมีการดำเนินมาตรการอีกหลายมาตรการเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 2 ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยหลายสถาบันยังคงคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อต่อสู้กับแรงกดดันของอัตราค่าจ้างแรงงานและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ECB คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ประกอบการไทยควรต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ และสถานการณ์เศรษฐกิจที่เศรษฐกิจยูโรโซนได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคแล้วในไตรมาสแรกของปีนี้ และยังมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login