หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 5.2% ในเดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 5.2% ในเดือนเมษายน

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Centraal Bureau voor de Statistiek : CBS) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็นร้อยละ 5.2 ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.4 ซึ่งลดลงมาจากเดือนกุมภาพันธ์ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.0 แต่ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 9.6 และเดือนกันยายนที่อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์อยู่ในระดับที่สูงสุดที่ร้อยละ 14.5 โดยสาเหตุหลักของการกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งของอัตราเงินเฟ้อ คือ ราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยกว่าในเดือนมีนาคม และราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งราคาสินค้าอุตสาหกรรมก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ในเดือนเมษายน ราคาสินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ราคาสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับร้อยละ 8.8 ในเดือนมีนาคม ส่วนราคาพลังงานซึ่งรวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์มีราคาลดลงเกือบร้อยละ 22 หลังจากที่ราคาลดลงกว่าร้อยละ 28 ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ CBS ยังได้รายงานตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่ใช้วิธีการคำนวณแบบ European Harmonised  Method หรือ European HICP (Harmonised Indices of Consumer Prices) เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ โดยข้อแตกต่างระหว่าง Dutch CPI และ HICP คือ ราคาที่อยู่อาศัยโดย Dutch CPI จะรวมราคาในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในการคำนวณด้วย ในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อ HICP ของเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในเดือนมีนาคม

สำนักงานสถิติยุโรป Eurostat เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 7.0 เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 6.9 และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ที่ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ตั้งเป้าหมายไว้ ธนาคารกลางยุโรปจึงยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

แม้ว่าตัวเลข GDP per Capita จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและประชากรของประเทศมีรายได้ที่ค่อนข้างสูง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปีที่แล้ว และอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมาย แม้ว่าจะค่อยๆ ขยับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่ก็กลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางของยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงสู่ระดับเป้าหมายในที่สุด โดยล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ECB ได้มีมติที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25 basis points โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ECB จะยังคงใช้ข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุม และเน้นการประเมินแบบ data-dependent approach เพื่อกำหนดระดับและระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลและการประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และความแข็งแกร่งของการส่งผ่านนโยบายทางการเงิน

อย่างไรก็ดี เราคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ต่อไปว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงได้หรือไม่ รวมถึงนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนรวมถึงภาคธุรกิจ และสามารถประคับประคองให้เศรษฐกิจยังคงสามารถเติบโตต่อไปและไม่เข้าสู่สภาวะถดถอยได้หรือไม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login