หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อัตราความยากจนในชิลีลดลงสวนกระแสเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัว

อัตราความยากจนในชิลีลดลงสวนกระแสเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัว

นาย Giorgio Jackson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวของประเทศชิลี (Social Development and Family) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเกี่ยวกับผลสำรวจสถานการณ์ความยากจนภายในประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความยากจนในชิลีปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจข้อมูลล่าสุดระบุว่าในปี 2565 มีคนยากจนทั้งสิ้นจำนวน 1.29 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นคนยากจนที่ร้อยละ 4.0 และคนยากจนขั้นรุนแรงที่ร้อยละ 2.5[1] โดยจำนวนผู้ยากจนส่วนใหญ่จะอยู่ในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง  อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวมีการลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในภาพรวม

นาย Giorgio กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความยากจนมีการปรับตัวดีขึ้นมาจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะให้กระจายอย่างทั่วถึง นโยบายด้านการศึกษา นโยบายด้านสุขภาพและระบบประกันสังคม และนโยบายการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

นาง Paula Poblete ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวของประเทศชิลี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าหลายประเทศประสบกับปัญหาความยากจนที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส  (โควิด 19) ในขณะที่ชิลีสามารถลดอัตราความยากจนภายในประเทศและยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคลาตินอเมริกาในหลาย ๆ ด้าน  ซึ่งรัฐบาลชิลีมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับลาตินอเมริกาและแคริบเบียน หรือEconomic Commission for Latin America and the Caribbean (ECLAC) [1] ระบุว่าจำนวนคนยากจนในภูมิภาคลาตินอเมริกาและประเทศในแคริบเบียนประจำปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.1 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาคฯ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ในขณะที่ประเทศชิลีสามารถลดอัตราความยากจนสวนกระแสประเทศอื่น ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลชิลีมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของชิลีมีการฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ประสบปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ นโยบายการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความมั่นใจ และธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอย่างปกติได้เร็วกว่าหลายประเทศ  แม้ว่าในปัจจุบันชิลีจะประสบปัญหากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุจะพบว่ามาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ราคาทองแดงในตลาดโลกซึ่งถือเป็นสินค้าหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศมีความผันผวน  ปัญหาภัยธรรมชาติ (ไฟป่าและน้ำท่วม) ประกอบกับชิลีเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภค/บริโภคจากต่างประเทศ ราคาสินค้าจึงขึ้นอยู่กับค่าขนส่งและอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของชิลีเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 แต่ค่าครองชีพของชิลียังคงมีการปรับตัวขึ้นสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในภาพรวมยังถือว่าชิลีเป็นประเทศที่ยังคงมีเสถียรภาพ ชาวชิลีมีกำลังซื้อและยังคงต้องการสินค้าเพื่อการอุปโภค/บริโภค ทั้งนี้ อัตราความยากจนที่ลดลงของชิลีจึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้บริโภคมีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้ามายังประเทศชิลี อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเจาะตลาด โดยเน้นการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อสามารถตั้งราคาสำหรับตีตลาดในช่วงแรกได้ถูกลงและเพื่อให้ลูกค้าเกิดการทดลองบริโภค โดยสินค้าอาหารเป็นสินค้าในลำดับต้นที่ชาวชิลีต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเพื่ออนาคต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางเลือกใหม่ (Plant Based Food) อาหารปราศจากโปรตีนกลูเตน และน้ำตาล รวมถึงผลไม้อบแห้ง เป็นต้น

—————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

กันยายน 2566

[1] https://www.cepal.org/en/pressreleases/poverty-rates-latin-america-remain-above-pre-pandemic-levels-2022-eclac-warns

[1] https://www.emol.com/noticias/Nacional/2023/07/27/1102266/encuesta-casen-pobreza-julio-2023.html และ https://www.desarrollosocialyfamilia.gob.cl/noticias/baja-la-pobreza-por-ingresos-y-la-pobreza-multidimensional-en-chile

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login