(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2566)
สำนักงานสถิติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า จำนวนเด็กทารกแรกเกิดในเกาหลีใต้ลดลงมากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยในเดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวนเด็กทารกที่เกิดในเดือนนี้ทั้งหมด 18,984 ราย ลดลง 2,798 ราย (-12.8%) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จำนวนเด็กทารกแรกเกิดในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นอัตราการลดลงที่มากที่สุด นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2563 อัตราเด็กแรกเกิดของเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 15.5 หรือ 3,673 ราย นอกจากนี้ จำนวนเด็กทารกแรกเกิดในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดของเดือนสิงหาคมตั้งแต่สำนักงานสถิติเกาหลีใต้ได้เริ่มรวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งไม่เคยมีจำนวนเด็กทารกแรกเกิดต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 รายมาก่อน
ในขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เป็น 30,540 ราย ส่งผลให้จำนวนประชากรในเดือนสิงหาคม 2566 ลดลง 11,556 ราย เกาหลีใต้เผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรครั้งแรกเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กแรกเกิดต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 46 เดือน
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังคงเผชิญวิกฤตอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง เนื่องจากคนหนุ่มสาวจำนวนมากแต่งงานและมีลูกช้า หรือไม่ก็เลิกล้มแผนที่จะสร้างครอบครัว ซึ่งเป็นไปตามวิถีของสังคมปัจจุบันและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการเผชิญกับราคาบ้านที่สูงขึ้น การจ้างงานลดลง และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
เจ้าหน้าที่ระบุว่า อัตราการแต่งงานในเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 7 เหลือ 14,610 รายในเดือนสิงหาคม และอัตราการหย่าร้างลดลงร้อยละ 2.1 เหลือ 8,057 ราย อัตราการเจริญพันธุ์หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงวัย เจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ของเกาหลีใต้ต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 0.7 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งต่ำกว่า 2.1 ที่จะเป็นอัตราที่จะช่วยรักษาจำนวนประชากรเกาหลีใต้ให้เท่ากับจำนวนปัจจุบันที่ 51 ล้านคน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า แนวโน้มจำนวนประชากรเกาหลีใต้ลดลง รวมถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการในเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนแปลง เช่น การที่จำนวนเด็กแรกเกิดลดลง จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าแม่และเด็กจะลดน้อยลง แต่จะมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือการที่ชาวเกาหลีใต้แต่งงานน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะอยู่ตัวคนเดียว จะส่งผลให้ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ หรือสำหรับบุคคลคนเดียวมากขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องศึกษาโครงสร้างประชากรของเกาหลีใต้ เพื่อประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะกับตลาดด้วย โดยอาจเน้นสร้างและพัฒนาสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มคนโสดหรือคนที่ใช้ชีวิตคนเดียว เช่น อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน สินค้าเพื่อความงามและสุขภาพ เพื่อสนองความต้องการบริโภคเพื่อตัวคนเดียวที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับสินค้าสำหรับเด็กแรกเกิด ควรเน้นสินค้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่มีรอยตะเข็บและไม่ระคายผิว เพื่อเจาะกลุ่มผู้ปกครองที่ใส่ใจในสุขอนามัยและความสบายของบุตรหลานตนเองด้วย
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวกวิตา อนันต์นับ
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)